TNN ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง เสียชีวิตทะลุ 38 คน

TNN

สังคม

ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง เสียชีวิตทะลุ 38 คน

ป่วยไข้เลือดออกพุ่ง เสียชีวิตทะลุ 38 คน

เปิดสถิติป่วยไข้เลือดออกพุ่ง กว่า 32,000 คน เสียชีวิตทะลุ 38 คน เตือนผู้สูงอายุเสี่ยงเสียชีวิตมากสุด

ในช่วงฤดูฝนมักพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนมาก จากสถิติผู้ป่วยไข้เลือดออกปีนี้กว่า 32,000 คนแล้ว ซึ่งมากกว่าปีที่แล้ว และมีผู้เสียชีวิต 38 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตพบเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากที่สุด สาเหตุการเสียชีวิตจากปัจจัยอะไรพร้อมมีข้อแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุ


กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะเฝ้าระวังผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก แม้ผู้สูงอายุจะป่วยน้อยกว่ากลุ่มวัยอื่น ๆ แต่มีโอกาสเสี่ยงทำให้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกมากที่สุด เนื่องจากร่างกายอ่อนแอประกอบกับมีโรคประจำตัว เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต หรือภาวะอ้วน หากไปรักษาช้า ยิ่งเสี่ยงอันตรายมากขึ้น


ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 12 มิถุนายน 2567 ไทยพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 32,140 ราย มากกว่าปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน ถึง 1.3 เท่า (24,625 ราย) พบผู้ป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 14 ปี //ขณะที่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต 38 ราย กระจายใน 22 จังหวัด โดยเสียชีวิตมากสุดในกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันพบการระบาดในจังหวัดน่าน เชียงราย แม่ฮ่องสอน และบึงกาฬ


สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผู้ป่วย มีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต ได้แก่

-มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคไต ติดสุราเรื้อรัง

-ไปรักษาที่โรงพยาบาลช้า คิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นไข้เลือดออก หรือ เข้าใจว่าไข้เลือดออกมีอาการไม่รุนแรง และอาจคิดว่าติดเชื้อโควิด-19 จึงซื้อยาฟัาทะลายโจรมากินเอง

-บางคนอาจซื้อยาลดไข้กลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน ยาชุด มากินเอง ซึ่งยากลุ่มนี้ทำให้มีอาการเลือดออกมากขึ้น


ทั้งนี้กรมควบคุมโรคแนะให้สังเกตอาการ หากมีอาการไข้สูงลอยมากกว่า 2 วัน แม้จะกินยาลดไข้ แต่ไข้ไม่ค่อยลด และมีอาการหน้าแดง ร่วมกับมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้ ให้ระวังอาจเป็นไข้เลือดออก 

-มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน

-ปวดท้อง กดเจ็บบริเวณลิ้นปี่ หรือใต้ชายโครงขวา

-ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

-หรือมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือ เลือดกำเดาไหล

ทั้งนี้แนะนำให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษา


นอกจากนี้กรมควบคุมโรคยังแนะ 3 มาตรการเก็บ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย

โดยมาตรการ 3 เก็บ ดังนี้

-เก็บบ้าน เพื่อไม่ให้ยุงเกาะพัก

-เก็บขยะ ที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

-เก็บน้ำปิดฝาภาชนะ ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันยุงวางไข่


โดยโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา แต่เป็นการรักษาตามอาการและความรุนแรง หากสังเกตได้เร็ว รู้เร็ว ดูแลตัวเองได้เร็ว จะทำให้หายได้ในเวลาไม่นาน และป้องกันความรุนแรงถึงชีวิตได้


ข่าวแนะนำ