ผลศึกษาชี้ ฝุ่นพิษ PM2.5 คร่า 135 ล้านชีวิตก่อนวัยอันควร
มลพิษทางอากาศ ”PM2.5” ส่งผลคร่าชีวิต 135 ล้านคนก่อนวัยอันควร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ เปิดเผยผลการศึกษาพบว่า ช่วงปี 1980-2020 มลพิษทางอากาศจากฝีมือของมนุษย์ และปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ไฟป่า มีส่วนเชื่อมโยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลก 135 คน
มลพิษทางอากาศที่ทางทีมวิจัยให้ความสนใจ คือ PM2.5 ที่หากสูดดมเข้าไป มันมีขนาดเล็กจนเข้าไปในระบบไหลเวียนโลหิต จนนำมาสู่โรคร้ายแรงมากมาย
ทางมหาวิทยาลัยชี้อีกว่า ปรากฎการณ์อย่างเอลนีโญ และ “ไดโพลมหาสมุทรอินเดีย” คือการที่อุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรอินเดียแปรปรวน ยิ่งทำให้ผลกระทบของมลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้น จากการที่มลพิษในอากาศมีความเข้มข้นสูงขึ้น
สัดส่วนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่สูงสุด จะอยู่ในทวีปเอเชีย มากถึง 98 ล้านคน ส่วนใหญ่ในจีนและอินเดีย ส่วนปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ราว 2-5 ล้านคน
ผลการศึกษานี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในการศึกษาที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อเชื่อมโยงมลพิษทางอากาศกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 40 ปี โดยสรุปสั้น ๆ ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงมากขึ้น
ขณะที่ องค์การอนามัยโลกชี้ว่า มลพิษทางอากาศนอกบ้าน และมลพิษทางอากาศจากครัวเรือน เชื่อมโยงกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 6.7 ล้านคนทุกปี
ข่าวแนะนำ