คสช. เห็นชอบ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ จ่อชงครม. ประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ
คสช. เห็นชอบ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เตรียมชง ครม. ประกาศใช้เป็นนโยบายประเทศ ‘สุริยะ’ เอาจริง! สั่งขับเคลื่อนจนเกิดการเปลี่ยนแปลง
ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่
1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้
2. สร้างการรับรู้ภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน
3. เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
5. ยืนยันนโยบายและมาตรการป้องกันและปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า
ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบายห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชาฯ ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น จนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณี ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช. ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ นำไปขับเคลื่อน ซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช. เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ
“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญคือการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่าการสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริง จำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะ กล่าว
สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น
ศ.เกียรติคุณ พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ ประธานกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเด็กและเยาวชนถือเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคต ที่ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองสุขภาพอย่างสอดคล้องและเหมาะสม จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะเรื่องนี้
ศ.พญ.สุวรรณา กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานทางวิชาการมากมายยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ โดยมีสารนิโคตินปริมาณสูงซึ่งมีฤทธิ์เสพติดรุนแรง และอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะต่อพัฒนาการสมองของเด็ก ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ย้ำด้วยว่าบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์อันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและมือสาม เนื่องจากมีสารนิโคติน สารเสพติด สารแต่งกลิ่น สารเคมีอื่นๆ มิได้เป็นสินค้าที่ปลอดภัยกว่าบุหรี่ตามที่อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากล่าวอ้าง
ปัญหาขณะนี้ยังถูกซ้ำเติมด้วยการตลาดล่าเหยื่อ ที่ธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เลียนแบบของเล่นเด็ก (Toy Pod) ของใช้หรือของกินที่เด็กและเยาวชนนิยมหรือคุ้นเคย รวมถึงการใส่สารปรุงแต่งกลิ่นและรสชาติในบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อดึงดูดความสนใจให้อยากทดลองและใช้บุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าคุมคามเด็กเล็กลงถึงระดับชั้นประถมศึกษา และส่งผลกระทบเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ทั้งมิติด้านสุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
“ความจริงแล้วสถานะของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นวัตถุที่มีความผิดตามกฎหมาย ครอบคลุมตั้งแต่การห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามบริการ ซึ่งดีอยู่แล้ว เราจึงขอให้รัฐบาลคงไว้ซึ่งมาตรการเหล่านี้ และสิ่งสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มอุตสาหกรรมยาสูบ ขณะที่การปกป้องเด็กและเยาวชนไทย เราก็สามารถทำได้ด้วยการสร้างการรับรู้เรื่องภยันตรายและการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าควบคู่กันไป” ศ.พญ.สุวรรณา ระบุ
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเทศไทยเคยมีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ มาแล้ว โดยขณะนั้นเครือข่ายสมัชชาฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนมติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราได้พบกับปัญหาใหม่จากการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าที่รุนแรง และจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายเข้ามาหนุนเสริมการขับเคลื่อนให้มากขึ้น
นพ.สุเทพ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าคนในประเทศไหนจะมีสุขภาพดีและอายุยืนยาวแค่ไหนขึ้นอยู่กับ ระบบบริการสุขภาพ 9% พันธุกรรม 16% พฤติกรรม 51% และ สิ่งแวดล้อม 24% ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมีน้ำหนักถึง 75% ดังนั้น การจะทำให้คนสุขภาพดี จึงต้องมาจัดการที่ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinant of health) ซึ่งการสูบบุหรี่ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับหนึ่งที่ทำให้ชายไทยเจ็บป่วยหรือตายก่อนวัยอันควร บุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายชนิด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน ฯลฯ
“ประเทศไทยดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ผลดี คนสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่บริษัทผู้ผลิตจำหน่ายบุหรี่คิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ มุ่งตลาดที่เด็กและเยาวชนเป็นธุรกิจที่กินยาว ในปัจจุบันจะเห็นการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมาก จะส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพของประชากรไทยในยุค “เด็กเกิดน้อย สังคมสูงวัย” อย่างน่าเป็นห่วง จึงจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะฯ เพื่อร่วมกันในการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างจริงจัง” นพ.สุเทพ กล่าว
ข่าวแนะนำ