TNN สธ. ขานรับดันไทย ‘เมืองออนเซ็น’ เผยข้อมูลแช่บ่อน้ำแร่ ดีอย่างไร?

TNN

สังคม

สธ. ขานรับดันไทย ‘เมืองออนเซ็น’ เผยข้อมูลแช่บ่อน้ำแร่ ดีอย่างไร?

สธ. ขานรับดันไทย ‘เมืองออนเซ็น’ เผยข้อมูลแช่บ่อน้ำแร่ ดีอย่างไร?

สธ. ขานรับดันประเทศไทย ‘เมืองออนเซ็น’ เผยประโยชน์ของการแช่บ่อน้ำแร่ มีข้อดีอย่างไร?

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายนำเรื่องสุขภาพมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจังหวัดระนอง มีศักยภาพที่จะพัฒนายกระดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพชั้นนำของโลกได้ จากความโดดเด่นของการมีแหล่ง “น้ำแร่” ที่มีคุณภาพดีเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และติด 1 ใน 3 ของโลก สามารถนำมาใช้บำบัดผู้ป่วยและให้บริการสปา เป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ


การใช้น้ำพุร้อนหรือน้ำแร่ในการบำบัดโรคที่เรียกว่า Balneotherapy เป็นส่วนหนึ่งของการใช้น้ำบำบัดสุขภาพ ซึ่งแร่ธาตุที่มีอยู่ในน้ำมีการละลายตั้งแต่ปริมาณ 0.6-2 g/l หรือมากกว่า  หรือมีแร่ธาตุละลายมากกว่า 10 g/l ร่วมกับอุณหภูมิของน้ำระหว่าง 20 - 40 องศาเซลเซียส ตามแหล่งโรงพยาบาล หรือเส้นทางการท่องเที่ยว เช่น จังหวัดระนองที่มีน้ำแร่ หรือน้ำพุร้อน จึงมักส่งเสริมสุขภาพ รักษา บำบัดฟื้นฟู โดยใช้คุณสมบัติของน้ำช่วยพยุงให้ร่างกายเคลื่อนไหวง่ายขึ้น ลดแรงกระแทกในข้อต่อต่างๆ บรรเทาอาการเจ็บปวด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด โดยมี ผู้ป่วยอาการปวดเข่า ปวดหลัง ข้อไหล่ติด และโรคหลอดเลือดสมอง เข้ารับบริการ 


ทั้งนี้มีข้อควรระวังก่อนลงแช่และอาบน้ำแร่ธรรมชาติ ผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบไหลเวียนเลือด เบาหวาน โรคผิวหนังระยะติดเชื้อ เส้นเลือดขอด เส้นเลือดตีบ และสตรีมีครรภ์ ต้องได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง, ไม่ควรอาบ หรือ แช่น้ำแร่ร้อนหลังรับประทานอาหาร หรือ ออกกำลังกายทันที ควรเว้นระยะเวลา 30 นาที นอกจากนี้ห้ามดื่มสุรา และของมึนเมาทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณบ่อน้ำแร่ 


ก่อนหน้านี้ นางสาว สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งเป้าหมายจะยกระดับแหล่งน้ำพุร้อนภายในประเทศไทยอย่างเร่งด่วน ให้เป็น เมืองสปา แบบยุโรป หรือ เมืองออนเซ็น แบบญี่ปุ่น เพื่อให้เศรษฐกิจน้ำพุร้อนของไทยที่มีศักยภาพสูง โดดเด่นบนเวทีโลก สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาเชื่อมโยงร้อยเรียงแหล่งน้ำพุร้อนในจังหวัดใกล้เคียงต่าง ๆ ทั้งระบบ เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ‘สายน้ำพุร้อน’ หรือ ‘สายสุขภาพ’ รวม 7 เส้นทาง เพื่อสร้างแบรนด์การตลาดสู่ตลาดสากล กระจายการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง


 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  บอกอีกว่า นอกจากนี้ จะยังมีการสร้างองค์ความรู้และแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำพุร้อนธรรมชาติที่มีมาตรฐานสากลสอดคล้องกับการท่องเที่ยววิถีใหม่ นำไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนธรรมชาติต่อไป และจะยังมีการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถต่อยอดธุรกิจบริการสุขภาพที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำพุร้อนธรรมชาติ และการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ให้มีความรู้และทักษะในการให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถพัฒนา ต่อยอด และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจากแหล่งท่องเที่ยวน้ำพุร้อนได้


จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลแหล่งน้ำพุร้อนภายในประเทศจากกรมทรัพยากรธรณีและสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าประเทศไทยมีแหล่งน้ำพุร้อน มากถึง 118 แห่ง โดยแหล่งน้ำพุร้อนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ 71 แห่ง รองลงมาเป็นภาคใต้ 32 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง และภาคตะวันออก 2 แห่ง แต่แหล่งน้ำพุร้อนหลายๆ แห่ง ยังไม่มีการใช้ประโยชน์เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูงหรืออยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีการเข้าถึงยาก   หากสามารถพัฒนายกระดับสู่จุดหมายปลายทางด้านสปาน้ำพุร้อน จะทำให้มีนักท่องเที่ยวอยู่พักค้างคืน สามารถเพิ่มรายได้เป็น 100 - 200 เท่า จากเดิมที่สามารถเก็บรายได้ได้เพียง 5 - 20 บาท หาพัฒนาได้สำเร็จจะสามารถเก็บค่าที่พัก อาหาร ของฝาก และการเดินทางท่องเที่ยว สำหรับนักท่องเที่ยวไทย ได้ประมาณ 2,000 บาทต่อวัน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ประมาณ 4,000 บาทต่อวัน


ข้อมูลจาก: กรมการแพทย์แผนไทย 

ภาพจากทำเนียบรัฐบาล

ข่าวแนะนำ