'ไข้เลือดออก' ครองอันดับ 1 โรคระบาดในไทยปี 66
'ไข้เลือดออก' ครองอันดับ 1 โรคระบาดในไทยปี 2566 พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 3.4 เท่า แพทย์เตือนมีโอกาสเป็นซ้ำได้
กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคติดต่อที่มีการระบาดในไทยปี 2566 ที่ผ่านมา โดยจากสถิติ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 13 ธันวาคม 2566 พบมีการระบาด และมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุดเป็นอันดับ 1 รวม 147,412 คน อัตราป่วย 222.91 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า กระจายทั่วประเทศ และพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 174 ราย จาก 57 จังหวัด โดยอัตราป่วยเสียสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และภาวะอ้วน
ด้าน แพทย์หญิงจิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว ศูนย์วัคซีนและเวชศาสตร์การเดินทาง โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อว่า เชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ หากมีการติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งแล้ว ร่างกายจะมีภูมิกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต แต่จะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยสามารถติดเชื้อสายพันธุ์อื่นๆ และป่วยเป็นไข้เลือดออกได้มากกว่า 1 ครั้ง หากมีการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นอีกภายหลัง ซึ่งความรุนแรงของอาการป่วย มีความแตกต่างกันออกไปตามสายพันธุ์ที่มีการติดเชื้อ
โดยสามารถพบการติดเชื้อและป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กเล็ก พบมากที่สุดจะช่วงอายุ 5-14 ปี ไปจนถึงผู้สูงอายุ และในช่วง 20 ปีหลังมานี้ แนวโน้มการติดเชื้อไข้เลือดออกในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มีมากขึ้น และอันตรายมากขึ้น
อาการโรคไข้เลือดออก ในช่วงเริ่มต้นมักจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้สูงเกิน 38.5 องศา ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีจุดเลือดออกตามแขน ขา ลำตัว ผู้ป่วยบางรายมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ซึ่งอาการของไข้เลือดออกในวันที่ 3-7 ของการป่วย อาจมีอาการรุนแรงขึ้น ถึงขั้นเลือดออกผิดปกติรุนแรง เกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้
ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด ซึ่งสามารถป้องกันเชื้อเดงกี ได้ทั้ง 4 สายพันธุ์
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ