TNN แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ

TNN

สังคม

แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ

แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ

สภาผู้บริโภค นักการเมือง และตัวแทนภาคเอกชน ชี้มาตรการลดค่าไฟฟ้าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น จี้นายกรัฐมนตรี ปรับโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ยกเลิกเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ลดซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน แนะใช้พลังงานสะอาดทดแทน หวังลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในระยะยาว

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2566 ที่ประกาศปรับลดค่าไฟฟ้า จาก 4.10 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลเดือนกันยายน - ธันวาคม 2566 เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน นั้น


วันที่ 6 ตุลาคม 2566 สภาผู้บริโภคจัดเวทีแลกเปลี่ยนพูดคุย ในหัวข้อ “ค่าไฟต้องแฟร์ = เป็นธรรมยั่งยืน” ผ่านทางรายการ เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร เผยแพร่ทางเพจและยูทูบสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อหาแนวทางทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมอย่างยั่งยืน


นางสาวรสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาลเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว และไม่สามารถทำได้ในระยะยาว เนื่องจากการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลง 2 ประการ ดังนี้ 1. ขอยืดการจ่ายหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และให้กฟผ.แบกหนี้เอาไว้ก่อน 2. ขอให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่เก็บราคาค่าก๊าซธรรมชาติแบบเต็มจำนวน ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะถูกเรียกเก็บจากประชาชนในภายหลัง เมื่อมาตรการนี้สิ้นสุดลง ค่าไฟฟ้าก็จะกลับมาแพงเช่นเดิม


แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ


อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะฯ สภาผู้บริโภค จึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาลเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาว 3 ข้อ ดังนี้


1. นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรเร่งแก้ไขโครงสร้างต้นทุนต้นทุนเชื้อเพลิง โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติให้เป็นราคาพูลก๊าซ (ราคาเฉลี่ยก๊าซจากอ่าวไทย + ก๊าซจากเมียนมา + ก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีนําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก) เนื่องจากก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลักของการผลิตไฟฟ้า ทั้งนี้ การปรับลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท

2. ขอให้รัฐบาลยกเลิกการทำสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 20 - 25 ปีโดยเฉพาะการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าล้นเกินเพราะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์แต่ใช้ไฟฟ้าจริงเพียงแค่ 3 หมื่นเมกะวัตต์เท่านั้น 

3. รัฐบาลควรจะสนับสนุนให้ประชาชนใช้พลังงานสะอาดโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน


สำหรับประเด็นการแก้ไขโครงสร้างต้นทุนเชื้อเพลิง นางสาวรสนาอธิบายว่า ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าต้องใช้ต้นทุนก๊าซที่มีราคาแพงกว่าในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นําเข้าที่อิงราคาตลาดโลก ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องใช้ไฟฟ้าในราคาแพงกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติที่คิดต้นทุนจากแหล่งก๊าซที่มีราคาถูกกว่า ได้แก่ ก๊าซอ่าวไทย และก๊าซจากเมียนมาร์ ดังนั้น หากรัฐบาลปรับโครงสร้างให้เป็นราคาพูลก๊าซ กล่าวคือ กลุ่มปิโตรเคมีและผู้ผลิตไฟฟ้าได้ใช้ก๊าซในราคาที่เท่ากัน จะทำให้ประเทศมีงบประมาณไปลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟฟ้าได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท หรือสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 20 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เกิดราคาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมและยั่งยืน 


แก้ ‘ค่าไฟแพง’ ระยะยาว รื้อโครงสร้างต้นทุนก๊าซธรรมชาติ


ส่วนเรื่องยกเลิกการทำสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้น นางสาวรสนาให้ข้อมูลว่า การทำสัญญากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในระยะยาวจะทำให้โรงไฟฟ้าเหล่านี้เป็น “โรงไฟฟ้าขยะ” ในอนาคต เนื่องจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่าภายในไม่เกิน 10 ปี หรือประมาณปี 2573 จะสามารถซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ต้นทุนค่าไฟจะเหลือหน่วยละ 1 บาท ขณะที่โรงไฟฟ้าที่รัฐบาลทำสัญญาซื้อราคาอยู่ที่ 3 - 9 บาทต่อหน่วย ดังนั้นการทำสัญญาซื้อไฟฟ้าระยะยาวครั้งละ 25 ปีจะทำให้กลายเป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต


“การลดค่าไฟฟ้าเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นมาก ๆ ที่นักการเมืองอยากให้ประชาชนดีใจ แต่ราคาค่าไฟฟ้าจะไม่ถูกตลอดไป เพราะไม่มีการแก้ไขในเชิงโครงสร้าง เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจริงใจ ต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้างที่เป็นราคาเชื้อเพลิงเพื่อให้ค่าไฟฟ้าราคาถูกแบบยั่งยืนได้” นางสาวรสนา กล่าว

เช่นเดียวกับ นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าของรัฐบาลเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่ต้องการแสดงให้ประชาชนเห็นว่าได้ทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ทันที แต่ไม่มีมาตรการแก้ไขในระยะยาว ทั้งนี้ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลได้นำข้อเสนอการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าในระยะยาวไปเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยเสนอให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการถัวเฉลี่ยต้นทุนของแหล่งก๊าซราคาถูกที่ปัจจุบันให้กับกลุ่มธุรกิจ ใช้รวมกับแหล่งก๊าซที่ราคาแพง เพื่อให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลง 


นอกจากนี้เสนอให้แก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อลดค่าความพร้อมจ่ายจากปัญหาสำรองไฟฟ้าเกินความจำเป็น ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 50 และมีโรงไฟฟ้าหลายโรงที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแต่รัฐต้องจ่ายเงินซื้อไฟฟ้าตามสัญญา ดังนั้นรัฐควรจะเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญาและลดค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวลง


รวมทั้งให้มีการทบทวนการเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ออกไปก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเซ็นสัญญาไฟฟ้าจากต่างประเทศ เช่นกรณีสัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนปากแบงจากประเทศลาว ที่ก่อให้เกิดข้อกังขาจากภาคประชาชนถึงความจำเป็นของการสร้างเขื่อนดังกล่าว ซึ่งจะมีสัญญาผูกขาดระยะยาวเกือบ 30 ปี อาจเป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต


ด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในทำนองเดียวกันว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าถือเป็นมาตรการระยะสั้นหากไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างค่าไฟฟ้าจะมีราคาแพงเช่นเดิม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาอุตสาหกรรมได้เรียกร้องให้ลดค่าไฟฟ้า และปรับโครงสร้างต้นทุนค่าไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าก๊าซธรรมชาติที่กลุ่มอุตสาหกรรมซื้อก๊าซในราคาที่แพงกว่ากลุ่มปิโตรเคมี จึงอยากเห็นโครงสร้างพลังงานเป็นธรรมไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภค 


นอกจากนี้อยากเห็นความตั้งใจของรัฐบาลในการปรับโครงสร้างพลังงาน โดยเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มผู้นำเข้าเพื่อให้มีโอกาสนำเข้าก๊าซราคาถูก และอยากเห็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ แผนพีดีพี ให้เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ แก้ปัญหาโลกร้อนและราคาค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคอย่างยั่งยืน 


ทั้งนี้ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า เนื่องจากปัญหาเรื่องพลังงานถือเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้น มูลนิธิคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ที่มีภาคเอกชนเช่น สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม จึงได้ตั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชนด้านพลังงานขึ้นมาโดยเฉพาะ ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบด้วยภาคเอกชนด้านพลังงาน และเห็นว่าควรจะมีสภาผู้บริโภคเป็นที่ปรึกษาเพื่อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาของผู้บริโภคในด้านพลังงานด้วย

ข่าวแนะนำ