กระหึ่ม “ไม่เอา” ตึกสูงซอยแคบ รุกรานชุมชน
สภาผู้บริโภคร่วมกับ 3 ชุมชนกลางกรุงเทพฯ ทวงถาม ‘ชัชชาติ’ ถึงสิทธิของผู้บริโภคที่ควรได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีตามรัฐธรรมนูญ หลังถูกคอนโดสูงก่อสร้างท่ามกลางเสียงคัดค้านของชุมชน จากปัจจัยซอยแคบ พร้อมเรียกร้องให้ระงับการอนุญาตก่อสร้าง 3 โครงการ ขณะที่ เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง พบอีกกว่า 100 โครงการที่ก่อสร้างในซอยแคบส่อละเมิอสิทธิชุมชนเดิม
จากกรณีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 สภาผู้บริโภค พร้อมตัวแทนชุมชนได้เข้ายื่นข้อเสนอและข้อร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานคร ต่อชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และชัชชาติ ระบุว่าจะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการภายใน 2 สัปดาห์ นั้น
วันที่ 22 กันยายน 2566 สภาผู้บริโภคจัดรายการ‘เราไม่ได้บริโภคหญ้าเป็นอาหาร’ ในหัวข้อ ‘ฟังเสียงชุมชน สะท้อน ไม่เอา ตึกสูงซอยแคบ’ ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สภาองค์กรของผู้บริโภค และ ยูทูบ tccthailand โดยมีตัวแทนจาก 3 ชุมชนและตัวแทนของกรุงเทพมหานครเข้าร่วม
ธีระ อัชกุล ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการ The-muve พหลโยธิน 37 กล่าวว่า ชุมชนพหลโยธิน 37 เป็นชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยกันมานานกว่า 3 รุ่น ระยะเวลาประมาณ 30-40 ปี ขณะที่สภาพปัจจุบันของชุมชนมีความหนาแน่นมากและมีอาคารสูงรายล้อมอยู่แล้ว 3 อาคาร ปัญหาที่พบบ่อยคือการจราจรติดขัดตั้งแต่ต้นซอยจนถึงท้ายซอย ทำให้คนในชุมชนเห็นว่าหากมีการก่อสร้าง The-muve พหลโยธิน 37 เป็นอาคารที่ 4 จะเพิ่มความแออัดของซอยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังทำให้ได้รับแสงแดดน้อยลง ส่งผลกระทบให้ความเป็นอยู่ลำบากขึ้น หากมีคอนโดแห่งที่ 4 จะทำให้หนึ่งวันได้รับแสงแดดเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้นซึ่งถือว่าโหดร้ายกับคนที่อาศัยในชุมชน
“จึงเกิดคำถามจากคนในชุมชน คือเรายังก่อสร้างคอนโดฯ ไม่เพียงพออีกหรือ ถ้ามีคอนโดฯ 230 ยูนิต 8 ชั้น รถของผู้อาศัยคอนโดเป็น 230 คัน แต่มีที่จอดรถเพียง 80 คัน แล้วที่เหลือต้องไปจอดตามซอย ปัญหาที่หนักขึ้นตามก็คือรถติดมากขึ้น และถ้าเกิดไฟไหม้จะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นได้ เนื่องจากอพยพหนีลำบาก รถดับเพลิงไม่สามารถสวนเข้า-ออกได้ ทำให้เกิดปัญหาความปลอดภัยของคนในชุมชนแน่นอน” ธีระ ระบุ
จากการที่สภาผู้บริโภคได้ลงพื้นที่ร่วมกับคนในชุมชน และเจ้าหน้าที่ กทม. ได้ทำการรังวัดถนนในซอยพบว่า ทางสัญจรที่รถสามารถวิ่งได้มีเพียง 5 เมตรกว่าเท่านั้น โดยบางจุดมีความกว้างอยู่ที่ 5.80 เมตร แต่ความกว้างของซอยที่รถสามารถวิ่งได้ไม่ถึง 6 เมตร ดังนั้นคนในชุมชนจึงไม่เห็นด้วยหากมีการก่อสร้างคอนโดฯ เพิ่ม เพราะจะทำให้คนในชุมชนไม่มีโอกาสใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี
ธีระกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า “ในฐานะประชาชน เรามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปกติสุข ไม่ถูกคุกคามจากภัยต่าง ๆ โดยในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าจะต้อทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และให้ชุมชนมีส่วนร่วม แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญที่เขียนเอาไว้ ดังนั้นจึงอยากถามว่ารัฐธรรมนูญผิดปกติหรือไม่ หรือเขียนเอาไว้สวยหรูเป็นแค่นิทานหรอกเด็ก”
ขณะที่สมวงศ์ พงศ์สถาพร ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – รัชดา (รัชดาซอย 44) กล่าวว่า ได้ร้องเรียนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกหน่วยงานตั้งแต่สำนักงานเขตจตุจักร ยื่นหนังสือนำเสนอความกังวลต่อผู้อำนวยการเขต ยื่นหนังสือที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยื่นหนังสือที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กทม. และยื่นหนังสือต่ออดีต สส. แต่ผลที่ได้รับคือศูนย์ ไม่มีการตอบรับและไม่มีการปฏิเสธอะไรทั้งสิ้น มีเพียงความเงียบ
สำหรับสภาพปัจจุบัน ซอยรัชดา 44 เป็นซอยเก่าแก่ มีชาวบ้านอยู่กันมานานกว่า 60 ปี จำนวน 750 หลังคาเรือนซึ่งหากโครงการคอนโดสูง 8 ชั้นในพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 285 ยูนิต มีที่จอดรถประมาณ 150 คันจะส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนจำนวนมาก เนื่องจากปัญหาซอยแคบ ทำให้รถสัญจรลำบาก
สมวงศ์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคและคนในชุมชนได้ร่วมกันรังวัดซอยพบว่ามีความกว้างเพียง 5.40 เมตรเท่านั้น จึงกังวลว่าหากมีคอนโดฯ จะทำให้มีรถออกมาจอดริมซอยจำนวนมากส่งผลให้ซอยแคบมากขึ้น กระทบกับโรงพยาบาลเดอะซีเนียร์ซึ่งดูแลผู้สูงอายุ จำนวน 200 เตียง มีรถพยาบาลวิ่งเข้าออกทุกวัน ทำให้มีปัญหาในการขนย้ายผู้ป่วย รวมไปถึงความกังวลต่อปัญหาเพลิงไหม้ทำให้รถดับเพลิงเข้าออกลำบาก
“ชาวบ้านหรือชุมชนที่เจอปัญหาลักษณะนี้ควรจะรวมตัวกันร่วมกันคัดค้าน เราประชาชนไม่ได้กินหญ้า เราไม่ได้กินหญ้าเพราะเรารู้ แต่เราเป็นประชาชนตัวเล็กๆ อำนาจการต่อรองกับราชการเรามีน้อยเพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องรวมตัวกันเพื่อคัดค้านสิ่งที่เราคิดว่าไม่ถูกต้อง” สมวงศ์กล่าว
ขณะที่ ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ตัวแทนผู้เสียหายจากโครงการเอส – ประดิพัทธ์ 23 กล่าวว่า โครงการเอส-ประดิพัทธ์ 23 ได้รับใบอนุญาตชั่วคราวตาม ม.39 ทวิ และกำลังจะเริ่มเดินหน้าโครงการในเดือนตุลาคมนี้ ปัญหาจริง ๆ คือการอยู่ร่วมกันในเมือง สิ่งที่กรุงเทพและคนกรุงเทพฯ กำลังประสบปัญหาอยู่ตอนนี้ก็คือไม่มีผังเมืองที่ชัดเจน เมืองที่มีการพัฒนาแบบไม่มีแบบแผน ทำให้ไปละเมิดชุมชนดั้งเดิม ขณะที่ชุมชนดั้งเดิมต้องการความเป็นอยู่ที่ดีในสภาพแวดล้อมที่ดี มีแสงแดดที่เพียงพอ
“เราไม่ได้ห้ามพัฒนาเมือง ห้ามสร้างทุกสิ่งทุกอย่างแต่สร้างอย่างไรให้มันยุติธรรมให้ชาวชุมชนดั้งเดิมยังมีชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ดีได้” ทิววัฒน์ ระบุ
ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง กล่าวว่า ปัญหาผังเมือง และ กฎหมายควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ถือว่าเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง เพราะกรณี 3 ชุมชนถือเป็นแค่เศษน้ำแข็งของภูเขาที่ปรากฏขึ้น ปัจจุบันพบว่า มีโครงการก่อสร้างอาคารสูงนับ 100 โครงการที่เกิดขึ้นในซอยแคบ โดยปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปี แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบร้องเรียนไปก็ไม่เคยมีหน่วยงานรัฐรับฟัง
“ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มตื่นรู้แล้ว และรวมตัวเพื่อแสดงออกว่าไม่ยอมแล้ว สะท้อนว่าเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานละเลยการปฏิบัติตามกฎหมายทำให้เกิดความเดือดร้อนกับชุมชน ซึ่งอาจมีคนเห็นใจเจ้าหน้าที่โยธา แต่ผมไม่เห็นใจเพราะตีความกฎหมายทำให้เกิดการก่อสร้างที่ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนตามมา ในเวลาเกิดเหตุการณ์คนที่อนุมัติเป็นเบื้องบนที่ไม่เคยต้องรับความผิด แต่คนที่โดนฟ้องร้องคือเจ้าหน้าที่โยธาระดับล่าง” ก้องศักดิ์ กล่าว
ก้องศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายผังเมืองและ กฎหมายควบคุมอาคาร ทำให้เกิดการตีความกฎหมายและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ การอนุมัติก่อสร้างที่ส่งผลกระทบกับชุมชน นอกจากนี้ การให้ผู้ก่อสร้างใช้มาตรา 39 ทวิ ตาม พ.ร.บ ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ขออนุญาตก่อสร้างชั่วคราว ทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ตามการอนุญาตก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ ถือเป็นจุดอ่อนหรือไม่ วิวรรธน์ อันตวิฬห์ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ ส่วนควบคุมอาคาร 1 สำนักงานควบคุมอาคาร สำนักการโยธากรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หากมองในแง่ของประชาชนอาจจะมองว่าเป็นจุดอ่อน แต่ถ้ามองในแง่ของผู้ประกอบการอาจจะมองว่าเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม แต่ขอยืนยันทั้งสองแบบจะถูกพิจารณาภายใต้กรอบกฎหมายเดียวกัน แต่ปัญหาอยู่ที่ความเข้าใจในข้อกฎหมายของประชาชนที่แตกต่างจากส่วนราชการเข้าใจ
“เจ้าหน้าที่เองไม่มีท่านไหนพิจารณาโดยที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ เพราะตัวเจ้าหน้าที่มีกรอบของกฎหมายกำกับอยู่ ไม่ให้ทำอะไรนอกเหนือที่กฎหมายกำหนดและมีหน่วยงานที่คอยตรวจสอบค่อนข้างเยอะในปัจจุบัน รวมทั้งประชาชนเองก็มีช่องทางการ้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่” วิวรรธน์ กล่าว
ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สิทธิผู้บริโภคสากลได้รับรองว่าเราสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี (Rights to Healthy Environment) แต่ชุมชนถูกละเมิดสิทธิ เช่น กรณีซอยร่วมฤดีและโครงการแอชตันอโศก ดังนั้นสิ่งที่ชุมชนต้องการคือให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำตามกฎหมาย หากความกว้างของซอยไม่ถึง 6 เมตรก็ไม่ควรสร้างอาคารสูงเกิน 10,000 ตารางเมตร เพราะ สิ่งที่ชุมชนต้องการคือการทำตามกฎหมายและยึดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยชาวชุมชนมีสิทธิที่จะอยู่แบบเดิม
“เราจะไปบอกว่าคนในชุมชนไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เพราะเขามีสิทธิที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี และการเปลี่ยนแปลงต้องทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง” สารี กล่าว
สำหรับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 ชุมชนนั้น สารี กล่าวว่า ขณะนี้ทุกชุมชนได้ยื่นหนังสือกับทางกรุงเทพมหานครแล้ว และสภาผู้บริโภคก็ได้ทำหนังสือเป็นทางการยื่นทั้งให้แก้ปัญหาเฉพาะรายและแก้ปัญหาโดยภาพรวม โดยหวังว่าจะได้รับการทบทวน และมีการเสนอให้ กทม. ระงับขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ เพื่อประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อพิจารณาจัดตั้งกองทุน EIA เป็นกองทุนอิสระ เพื่อให้เกิดความเป็นกลาง โปร่งใสในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอขอแก้ไขกฎหมายข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 กำหนด “เขตทาง” และ “ผิวจราจร” ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคาร ในเรื่องความปลอดภัยเมื่อเกิดอัคคีภัย รวมถึงกำกับดูแลขั้นตอนการก่อสร้างอาคารใน กทม.อย่างเคร่งครัด เพื่อลดปัญหากระทบผู้บริโภค และขอให้ กทม.ตั้งคณะทำงานร่วมกับสภาผู้บริโภค รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ ทบทวนการใช้และการมีต่อของมาตรา 39 ทวิ ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อให้การก่อสร้างอาคารผ่านการอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภค ได้ยื่นข้อเสนอการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) จากการจัดเวทีเสวนาภาคประชาชน เพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม. ทบทวนกระบวนการรวบรวมข้อมูลในการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครใหม่ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วม รับฟัง แลกเปลี่ยนความเห็นและชี้แจงประชาชนให้เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้น