เดินป่าฤดูฝนระวัง! ‘โรคไข้มาลาเรีย’ ล่าสุดป่วยสะสมแล้ว 9 พันราย
เดินป่าฤดูฝนระวัง! อย่าให้ยุงกัด เสี่ยงเป็น ‘โรคไข้มาลาเรีย’ ล่าสุดทั่วประเทศป่วยสะสมแล้ว 9 พันราย
วันนี้ ( 17 ก.ค. 66 )นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนเหมาะต่อการเจริญพันธุ์ของยุงหลายชนิดที่เป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะยุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย โดยสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทยจากระบบมาลาเรียออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม 9,255 ราย เป็นคนไทย 4,158 ราย และต่างชาติ 5,097 ราย ทั้งนี้ จากไทม์ไลน์ช่วง 1 สัปดาห์ล่าสุด พบผู้ป่วยเพิ่มถึง 835 ราย
โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดได้แก่ จังหวัดตาก 5,513 ราย ซึ่งในจำนวนนี้เสียชีวิต 3 ราย รองลงมาคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1,026 ราย และจังหวัดกาญจนบุรี 945 ราย โดยชนิดเชื้อส่วนใหญ่ที่ตรวจพบ คือ เชื้อ P.vivax 2 ราย ติดเชื้อจากจังหวัดกาญจนบุรี และเชื้อ P.falciparum 2 ราย ติดเชื้อจากประเทศซูดานและประเทศแทนซาเนีย จากการสอบสวนโรคยังไม่พบการติดเชื้อดังกล่าวในพื้นที่ของเขตสุขภาพที่ 9
ส่วนสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 7 กรกฎาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสม 4 ราย ลดลงจากปี 2565 จำนวน 1 ราย และจากการสอบสวนโรค พบว่า โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยมากสุดคือ จังหวัดนครราชสีมา 2 ราย รองลงมาเป็นจังหวัดสุรินทร์ 1 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ 1 ราย และจังหวัดชัยภูมิ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย ซึ่งอาชีพที่พบผู้ป่วยมากสุด คือ อาชีพรับจ้าง 2 ราย รองลงมาคือ ทหาร 1 ราย และนักเรียน 1 ราย
สำหรับโรคไข้มาลาเรีย เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม มียุงก้นปล่องที่มักอาศัยอยู่ตามป่าเขา เป็นพาหะ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง จึงมักจะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าเขา แถบชายแดน โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีไร่มีสวนติดกับเขตพื้นที่ป่าเขา รวมไปถึง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารที่ลาดตระเวนตามแนวชายแดนที่ติดพื้นที่ป่า และประชาชนที่ชอบเดินป่า จึงเสี่ยงถูกยุงก้นปล่องกัดและติดเชื้อโรคมาลาเรียได้ เพราะยุงก้นปล่องมักจะออกหากินเวลากลางคืน
เมื่อถูกยุงก้นปล่องตัวเมียกัด ก็จะทำให้ได้รับเชื้อโรคไข้มาลาเรียเข้าไปด้วย ทำให้เริ่มมีอาการป่วยหลังจากถูกกัด ประมาณ 10-14 วัน จะมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะเป็นพักๆ อาจมีอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือมีอาการที่เรียกกันว่า “ไข้ป่า” หรือ “ไข้จับสั่น” หากไปพบแพทย์ได้ทัน แพทย์จะทำการเจาะเลือดหาเชื้อ หากพบเชื้อจะได้รับยาไปทานให้ครบตามแพทย์สั่ง แล้วไปตรวจเลือดซ้ำตามนัด ไม่นานก็สามารถจะรักษาให้หายได้ แต่หากไปพบแพทย์ช้า ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะปอดบวมน้ำ ภาวะไตวาย ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชน เมื่อต้องเข้าป่า หรือไปในพื้นที่เสี่ยง ควรป้องกันตนเองด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมแขนขาให้มิดชิด ใช้ยาทากันยุงหรือจุดยากันยุงเมื่อต้องนอนค้างคืนในป่า ควรนอนในมุ้ง และมุ้งต้องอยู่ในสภาพดีไม่มีรูขาด หรือหากนอนเปลควรหามุ้งคลุมเปลป้องกันยุงกัดด้วยจะช่วยป้องกันโรคไข้มาเลเรียได้ รวมทั้ง นำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่และฆ่ายุง
ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เมื่อมีรายงานผู้ติดเชื้อในพื้นที่ดูแลจะต้องเร่งดำเนินการควบคุมยุงพาหะให้คลอบคลุมทุกหลังคาเรือน และเร่งค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้ง ดำเนินตามมาตรการ 1-3 -7 และเฝ้าระวังการกลับมาแพร่เชื้อใหม่ในพื้นที่ ซึ่งหากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ภาพจาก : AFP