

สรุปข่าว
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ โรคไข้เลือดออก
โดยระบุว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 55 ปี บ้านอยู่ กทม. ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว เริ่มมีไข้ ปวดตัว ปวดหลังหู อ่อนเพลีย กินอาหารได้น้อย ไม่มีผื่นขึ้นตามตัว ไม่ปวดท้อง ไม่มีถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกครั้งแรกอายุ 17 ปี ครั้งนั้นป่วยไม่มาก มาโรงพยาบาล 4 วันหลังจากเริ่มมีไข้ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2567
ตรวจร่างกายมีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียส ตรวจเลือด เม็ดเลือดขาวต่ำ 1,780 เกล็ดเลือดต่ำ 116,000 ค่าเอนไซม์ตับสูง SGOT 158, SGPT 70 ตรวจไข้เลือดออกด้วยวิธีเจาะเลือดให้ผลเร็ว Dengue Duo Rapid Test NS1 Ag ให้ผลบวก
วินิจฉัย : เป็นไข้เลือดออกเป็นครั้งที่ 2 อาการรุนแรงกว่าครั้งแรกมาก
คนไข้กินอาหารได้น้อย ให้น้ำเกลือ ให้ Tylenol ลดไข้ ติดตามผลเกล็ดเลือด วันที่ 7 พ.ย. เกล็ดเลือดลดลงต่ำเหลือ 23,000 วันที่ 9 พ.ย. ดีขึ้นเพิ่มเป็น 115,000 ค่าเอนไซม์ตับ SGOT ขึ้นเป็น 615 วันที่ 5 พ.ย. แล้วดีขึ้นลดลงเหลือ 158 วันที่ 9 พ.ย. ค่าเอนไซม์ตับ SGPT ขึ้นเป็น 308 วันที่ 5 พ.ย. แล้วดีขึ้นลดลงเหลือ 161 วันที่ 9 พ.ย.
คนไข้ไม่มีเลือดออก ไม่มีผื่นขึ้นตามตัว กินอาหารได้ดีขึ้น ไข้ลง ให้กลับบ้านได้หลังนอนรักษาในรพ. 6 วัน
ผู้ป่วยแนะนำให้ลูกอายุ 27 ปี และสามีฉีดวัคซีนไข้เลือดออก Qdenga 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือนเพื่อป้องกันไข้เลือดออก เพราะรู้สึกว่าเวลาตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 เป็นหนักมาก ไม่อยากให้ลูกและสามีป่วยเป็นไข้เลือดออก
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีนั้น แบ่งเป็น 2 ชนิดตามความรุนแรง คือ
-ไข้เดงกี
-ไข้เลือดออก
โรคไข้เดงกี (dengue fever) ซึ่งอาการที่พบได้แก่ ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อหรือกระดูก มีผื่นขึ้นคล้ายผื่นของโรคหัด และอาจมีภาวะเลือดออกหรือไม่มีก็ได้
ส่วนโรคไข้เลือดออกนั้น นอกจากจะมีอาการเช่นเดียวกับโรคไข้เดงกีแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค คือ
-มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียสประมาณ 2-7 วัน
-คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
-หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน
-ปวดท้องอย่างรุนแรง กดเจ็บชายโครงด้านขวา
- ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวันผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลวหรือภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (dengue shock syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ วัดชีพจรไม่ได้
สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะช็อก หลังจากมีไข้สูง 2-7 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ระบบไหลเวียนโลหิตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ความดันโลหิตและชีพจรเริ่มคงที่ เมื่อผ่านไป 2-3 วันจึงเข้าสู่ระยะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น ไข้ลดลง เริ่มรับประทานอาหารได้ อาการปวดท้องดีขึ้น ระยะนี้มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่ง จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
ที่มาข้อมูล : -