'อิ๊วโซดา' นักโภชนาการออกโรงวิเคราะห์ใส่ 3 ช้อนโต๊ะ โซเดียมอื้อ
การตลาดฉีกแนว ‘อิ๊วโซดา’ นักโภชนาการออกโรงวิเคราะห์ใส่ 3 ช้อนโต๊ะ โซเดียมอื้อ
ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กางตารางวิเคราะห์ซีอิ๊วดำ 3 ช้อนโต๊ะ มีโซเดียม 650 มก. เท่าปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับตามคำแนะนำต่ออาหาร 1 มื้อ ยิ่งดื่มซีอิ๊วดำผสมเครื่องดื่มรสหวาน -โซดาเข้าไปอีก หวั่นโซเดียมที่ร่างกายจะได้รับพุ่งสูง กระทบสุขภาพ ด้านอ.สง่า ห่วงเทรนด์กำลังมา หากคนรุ่นใหม่แยกไม่ได้จะเตลิดเปิดเปิง ย้ำวันนี้สุขภาวะคนไทยเป็นโรค NCD เยอะมากแล้ว ขอร้องทุกภาคส่วนช่วยให้ข้อมูล พร้อมวอนผู้ประกอบทำการตลาด ขอให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย มองถึงสุขภาพผู้บริโภคเป็นสำคัญ
จากกระแสแรงในโซเชียลมีเดีย มีการท้าให้ลองทำ “อิ๊วโซดา” หรือ ซีอิ๊วผสมโซดา ใช้ซีอิ๊วดำสูตร 1 ปริมาณ 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับโซดาหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ตามน้ำแข็ง 1 แก้ว นั้น
ทางเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับพันธมิตร ประกอบด้วยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย และเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. โครงการศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโรงเรียนเด็กไทยแก้มใส นำโดยรศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมให้ข้อมูลทางโภชนาการแก่สาธารณชน
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวถึงซีอิ้วดำสูตร 1 ปริมาณ 3 ช้อนโต๊ะ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ มีปริมาณโซเดียม 650 มิลลิกรัม ซึ่งเท่ากับปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับตามคำแนะนำต่ออาหาร 1 มื้อ (ดังตาราง) และมีปริมาณน้ำตาล 24 กรัมเท่ากับปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ฉะนั้น การนำซีอิ๊วดำผสมกับเครื่องดื่มรสหวาน หรือโซดา ก็จะได้โซเดียมเพิ่มไปอีกเป็น 708-763 มิลลิกรัม และจะทำให้ผู้บริโภคได้รับน้ำตาลสูงขึ้นไปอีก
และถ้าดื่มเป็นประจำ จะเกิดผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มที่มีทั้งรสชาติหวานและเค็มมากเป็นประจำ จะทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่โรคไต โรคหัวใจ และอัมพาตได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต จะทำให้โรคกำเริบได้ ดังนั้น คนปกติก็ไม่ควรได้โซเดียมจากเครื่องดื่ม เพราะปกติคนเราได้โซเดียมจากอาหารหลักมากเกินพออยู่แล้ว
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า โดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือ (โซเดียม) เป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้เครื่องปรุง รสดังกล่าวปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือ (โซเดียม) ในอาหารสูงมากตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรสที่ครัวเรือนคนไทยนิยมใช้กันมาก 5 ลำดับแรก คือ น้ำปลา ซีอิ้ว เกลือ กะปิ และซอสหอยนางรม ดังนั้นในเรื่องของการนำซีอิ้วดำ ซึ่งมีความเค็มอยู่แล้ว มาบริโภคร่วมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ นั้น จึงไม่ความเหมาะสม
“สถานการณ์การกินโซเดียมเกินของคนไทยเกือบ 2 เท่า เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้กินหวานและเค็มลดลง การขายสินค้าควรตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้บริโภคด้วย” ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ระบุ และเห็นว่า ในส่วนของผู้ปกครอง ครูที่โรงเรียนควรให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว รวมถึงทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มขอความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้ความรู้ไปยัง โรงเรียน ทุกระดับชั้นด้วย
สอดคล้องกับอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่ชี้ให้เห็นว่า เราอย่าไปกลัวโซเดียมจนเกินเหตุ กลัวความเค็มจนขนลุก โซเดียมมีประโยชน์ต่อร่างกาย ร่างกายขาดไม่ได้ ซึ่งโซเดียม คือ เกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการควบคุมสมดุลน้ำ และของเหลวในร่างกาย สามารถควบคุมระบบความดันโลหิต การทำงานของเซลล์ประสาท กล้ามเนื้อ ตลอดจนถึงการดูดซึมสารอาหารและเกลือแร่ในไต ลำไส้เล็ก โซเดียมพบในอาหาร เนื้อสัตว์ อาหารจากธรรมชาติ ซึ่งโดยปกติคนเราก็กินโซเดียมที่มีอยู่ในอาหารจานหลักอยู่แล้ว อีกทั้งคนไทยยังบริโภคโซเดียมเกิน 2000 มิลลิกรัมต่อวัน (เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน น้ำปลาไม่เกิน 3-4 ช้อนชาต่อวัน) ไปถึง 2 เท่า
“หากเราดื่มเครื่องดื่มที่มีโซเดียมเข้าไปอีก และกินไปหลายๆ วันจะเกิดอะไรขึ้น จึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการกังวลว่าจะเกิดผลต่อสุขภาพ ทั้งความดันโลหิตสูง โรคไต หัวใจทำงานหนัก รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่สำคัญปกติคนเราจะไม่ได้รับโซเดียมจากเครื่องดื่ม เช่นที่เอาซีอิ๊วใส่ลงไปในน้ำดื่มก็จะเพิ่มปริมาณโซเดียมที่บริโภคต่อวัน เหมือนที่กำลังเป็นกระแสอยู่ขณะนี้”
อาจารย์สง่า กล่าวถึงกระแสอิ๊วโซดาเป็นการทำการตลาดเพื่อเข็นกระแส โดยพยายามลุกเข้าไปในตลาดของกลุ่มเด็ก และวัยรุ่น แล้วพยายามสร้างสิ่งแปลกใหม่ ให้เกิดเทรนด์ การตลาดแบบไวรัล เชื่อว่า ผู้ผลิตซีอิ๊ว พยายามโยนหินถามทาง ออกมาแหย่เล่น สุดท้ายเชื่อว่า กระแสนี้ไปไม่รอด เพราะอิ๊วโซดาไม่เข้าท่า ผิดธรรมชาติ
“ผมห่วงเรื่องเทรนด์กำลังมา หากคนรุ่นใหม่มีลิ้นที่แยกไม่ได้เหมือนคนรุ่นก่อนๆ ที่คุ้นชินกับการเข้าครัว เห็นซีอิ๊วที่อยู่ในอาหารจานหลัก เช่น ผัดซีอิ๊ว เห็นซีอิ๊วในหมู่พะโล้ ไม่เคยเห็นซีอิ๊วในน้ำดื่ม ผมห่วงกลุ่มเด็กวัยรุ่น กลุ่มเด็กที่ไม่ได้มีมุมมองซีอิ๊วเหมือนคนรุ่นก่อน เขามีความอยากลอง จึงกลัวว่า กระแสนี้จะเตลิดเปิดเปิงไปกันใหญ่ เพราะวันนี้สุขภาวะของคนไทยที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเยอะมาก จึงอยากขอร้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหาร สื่อมวลชน เซเลบ รีวิวเวอร์ TikToker และผู้บริโภค ช่วยกันคนละไม้คนละมือ
การทำการตลาดเพื่อจะให้ขายของได้นั้น ต้องอยู่บนพื้นฐานของความปลอดภัยและสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ การขายของได้มาซึ่งในกระเป๋าโดยปราศจากการคำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภคเป็นการสร้างบาปให้คนไทย ทางฝ่ายวิชาการ สธ. สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยินดีให้ความร่วมมือการทำการตลาดเพื่อขายสินค้า สามารถให้ข้อมูลทางโภชนาการที่มีประโยชน์ได้ ”