"บัตรทอง 2566" สปสช.อัปเกรดสิทธิประโยชน์ใหม่ ดีเดย์ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
"บัตรทอง 2566" เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ขยายเพิ่มเติมหลากหลายบริการ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ดีเดย์ 1 ต.ค.2565 นี้
"บัตรทอง 2566" เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ขยายเพิ่มเติมหลากหลายบริการ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการที่เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ดีเดย์ 1 ต.ค.2565 นี้
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่รู้จักในชื่อกองทุนบัตรทอง สปสช. ยังคงเดินหน้าและพัฒนาระบบอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อดูแลประชาชนผู้ใช้สิทธิให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง
โดยในปีงบประมาณ 2566 ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 นี้ สปสช.จะเริ่มเดินหน้าดำเนินการกองทุนฯ ตามแผนบริหารจัดการที่วางไว้โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ที่มี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน
สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ในปี 2566
สิทธิประโยชน์ใหม่ที่ สปสช. ได้ดำเนินการเพิ่มเติมให้กับประชาชนในปีนี้ ได้แก่
- การดูแลภาวะความดันเลือดในปอดสูงในทารกแรกเกิด (Persistent Pulmonary Hypertension of the Newborn) เป้าหมายบริการจำนวน 320 ราย
- บริการทันตกรรม Vital Pulp Therapy หรือการรักษาเนื้อเยื่อในฟันกรามแท้ จำนวน 56,300 ราย
- บริการรากฟันเทียม จำนวน 15,200 ราย
- บริการห้องฉุกเฉินคุณภาพภาครัฐ จำนวน 53,184 ราย
- ผ้าอ้อมผู้ใหญ่และแผ่นรองซับ จำนวน 48,554 ราย
- บริการยาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 27,000 ราย
- เพิ่มยาจำเป็นแต่มีราคาแพง ในกลุ่มบัญชียา จ (2) จำนวน 14 รายการ ดูแลผู้ป่วย 9,634 ราย
- บริการดูแลผู้ป่วยกึ่งเฉียบพลัน จำนวน 30,283 ราย
- บริการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับพิษ จำนวน 7,598 ราย
- เพิ่มเติมบริการที่คลินิกการพยาบาลฯ กายภาพบำบัด คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม และคลินิกทันตกรรม 2,002,295 ราย รวมถึงบริการ Home Ward
สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" ตรวจคัดกรองโรค
ขณะที่ บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในปี 2566 นี้ สปสช. ได้เพิ่มเติมบริการเช่นกัน ได้แก่
- การตรวจไวรัสตับอักเสบบี (HBe Ag) ในหญิงตั้งครรภ์
- บริการคัดกรองธาลัสซีเมียในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย
- บริการคัดกรองซิฟิลิสในสามีหรือคู่ของหญิงตั้งครรภ์ทุกราย
- บริการสายด่วนเลิกบุหรี่และสายด่วนสุขภาพจิต
- บริการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
- บริการคัดกรองมะเร็งและมะเร็งช่องปาก
- บริการคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry (TMS) ในเด็กแรกเกิด
- บริการคัดกรองและค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง
- บริการตรวจยีน BRCA1/BRCA2 ในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์
สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" เพิ่มการเข้าถึงบริการ
นอกจากนี้ สปสช. ได้ดำเนินการพัฒนาการบริหารจัดการที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการ ได้แก่
- บริการโรคโควิด-19 จากเดิมที่แยกการบริการจัดการโดยใช้งบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ที่ปรับให้อยู่ในงบบัตรทองที่ครอบคลุมทั้ง บริการโควิดผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การป้องกันและการช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีฉีดวัคซีนโควิด-19
- การเดินหน้ายกระดับบัตรทองอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มการเข้าถึงยา ทั้งยารักษามะเร็ง และยาที่มีส่วนผสมของกัญชา (บัญชียาหลักแห่งชาติ)
- เพิ่มการเข้าถึงบริการเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูงโดยปรับการจ่ายตามรายการบริการ
- เพิ่มสัดส่วนสมทบกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพในระดับจังหวัดตามความพร้อมแต่ละพื้นที่ และเพิ่มบริการผ่าตัดข้อเข่าและผ่าตัดต้อกระจกที่เปิดให้มีการปรับเป้าหมายตามบริบทพื้นที่เช่นกัน
ส่วนบริการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงนั้น ได้มีการปรับการจ่ายที่เป็นไปตามแผนการดูแลแต่ละบุคคล (Care plan) พร้อมตัดรอบการจ่ายทุก 15 วัน นั้น ได้ปรับบริการไตวายเรื้อรังที่ให้ดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางพร้อมเพิ่มทางเลือกจ่ายชดเชยเป็นเงินสำหรับน้ำยาล้างไตและยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง (EPO) เป็นต้น
“ปี 2566 นี้ สปสช. ได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์บริการให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นบริการคัดกรอง บริการตรวจรักษา และบริการฟื้นฟูฯ ที่จำเป็นต่อการดูแล โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อดูแลสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP