‘ไข้หวัดมะเขือเทศ’ รุนแรงหรือไม่? อาการแรกเริ่มเป็นอย่างไร
หมอยงตอบข้อสงสัย ‘ไข้หวัดมะเขือเทศ’ รุนแรงหรือไม่? 3 อาการต่อไปนี้คืออาการแรกเริ่มของการป่วย
วันนี้ ( 28 ส.ค. 65 )ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง โรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) โดยระบุว่า โรคดังกล่าวพบในประเทศอินเดีย ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เกือบ 100 คน และยังพบเพิ่มเติมที่เมืองอื่นๆอีก การตั้งชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะเด็กที่ป่วยจะมีลักษณะ ผื่นแดง เป็นตุ่มน้ำ คล้ายมะเขือเทศ ลักษณะอาการ จะมีอาการเริ่มต้นคล้ายไข้หวัด คือมีไข้ ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว และต่อมามีผื่นขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง บอกด้วยว่า โรคไม่รุนแรง และหายได้เอง ไม่มีผู้ใดเสียชีวิต จากการสันนิษฐานลักษณะอาการคล้าย ไข้ปวดข้อยุงลาย ไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก ที่จริงแล้วการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุไวรัสในปัจจุบัน ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียน่าจะรู้แล้วว่าเกิดจากไวรัสตัวไหน แต่ปัจจุบันยังไม่มีประกาศออกมาเป็นทางการ
จากที่ได้ติดตามและดูลักษณะผื่นที่ขึ้นจากรูปถ่าย ที่รายงานตามหนังสือพิมพ์ของอินเดีย แทบจะบอกได้เลยว่า ลักษณะนี้คือผื่นที่ขึ้นเหมือนกับโรคมือเท้าปากที่พบในบ้านเรา โดยเชื้อหลักของลักษณะผื่นแบบนี้ คือ คอกแซคกี A6 (Coxsackie A6) ลักษณะผื่นจะขึ้นที่มือ เท้า ข้อศอก ข้อเข่า รอบก้น และถ้าเป็นมากก็จะดูค่อนข้างรุนแรง
เราคงต้องติดตามว่าไวรัสที่เกิดในอินเดียเกิดจากตัวไหน จากการคาดการณ์เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัส คอกแซคกี (Coxsackie) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และไม่รุนแรง ไม่เหมือนเชื้อ เอนเทอโรไวรัส A71 (enterovirus A71) ที่อาจทำให้เกิดสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
ข้อมูลจาก : Yong Poovorawan
ภาพจาก : AFP