

สรุปข่าว
เปิดบทลงโทษ พ.ร.บ.โรคติดต่อ "ผู้ป่วยฝีดาษลิง" หนีการรักษา
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข ระบุว่า ได้รับทราบกรณี ชาวไนจีเรียที่ติดเชื้อฝีดาษลิง เข้ารักษาในโรงพยาบาล จ.ภูเก็ต แล้วหลบหนีออกจาก รพ.แล้ว ขณะนี้ตำรวจอยู่ระหว่างการตามล่า พร้อมขึ้นรูปหน้าของผู้ป่วยที่หลบหนีไป ซึ่งมองว่าพฤติกรรมเช่นนี้ แย่มากและเป็นพฤติกรรมไม่ดี
นายอนุทินยืนยันว่ากำลังเร่งติดตาม โดยต้องจับกุมตัวให้ได้ และจะขึ้นรูปตามหาทั่วประเทศ โดยจะมีบทลงโทษตามกฎหมายทุกอย่างที่มี รวมทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ขณะเดียวกันอาจมีการเนรเทศออกจากประเทศไทย
ส่วนการปูพรมป้องกันการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยรายดังกล่าวนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า จากข้อมูลของอธิบดีกรมควบคุมโรครายงานมาเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ทราบว่าได้มีการติดตามคนสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายดังกล่าวมากักตัวและตรวจเช็คแล้วไม่พบการติดเชื้อ และย้ำว่าตามที่อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุว่าไม่ได้ติดกันง่ายๆ แต่จะต้องเฝ้าระวัง
"โรคฝีดาษวานร" หรือ "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
เมื่อวันที่ (9 ก.ค.65) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 มีรายละเอียดดังนี้
โดยที่เป็นการสมควรให้มีการประกาศให้ "โรคฝีดาษวานร" หรือ "โรคฝีดาษลิง" (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวัง การป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ.2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ โรคติดต่อแห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565”
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (56) ของข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสําคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง พ.ศ.2562
“(56) โรคฝีดาษวานรหรือโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลือง บวมโต เจ็บคอ มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนังลักษณะเป็นตุ่มน้ำหรือตุ่มหนอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลําตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน หรือขา บางตุ่มอาจเกิดขึ้นที่ฝ่ามือหรือฝ่าเท้า”
หากอ้างอิง จากการหนีกักตัว จากโรคโควิด 19 จะพบว่า มีโทษทางกฏหมายดังนี้
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อสั่งให้ดำเนินการ เช่น แยกกัก กักกัน หรือคุมตัวไว้สอบสวน ดังนั้น หากมีคำสั่งให้คนที่กลับจากประเทศเสี่ยงต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน 14 วัน หากไม่ดำเนินการคำสั่งก็จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 51 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คือ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ทั้งนี้ เมื่อประกาศมีผลบังคับใช้ให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายแล้ว จะสามารถดำเนินการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อาทิ
-กรณีเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ควบคุมโรคติดต่อตามาตรา 40 (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดขัดขวางหรือไม่อํานวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตามมาตรา 45 วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
-ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือเจ้าพนักงานงานควบคุมโรคติดต่อ หรือบุคคลตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ้างอิงจากโรคติดต่อ โควิด 19
ที่มาข้อมูล : -