เปรียบเทียบความรับผิดทางแพ่งของ "กฎหมาย PDPA" กับกฎหมายอื่น จ่ายต่างกันแค่ไหน?
เพจเฟซบุ๊ก "PDPC Thailand" โดยสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เปรียบเทียบความรับผิดทางแพ่งของ PDPA กับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ผู้กระทำผิดต้องจ่ายค่าเสียหายแตกต่างกันอย่างไร
วันนี้ (31 พ.ค.65) เพจเฟซบุ๊ก "PDPC Thailand" โดยสํานักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเพจเพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร กิจกรรม องค์ความรู้ และกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้เปรียบเทียบความรับผิดทางแพ่งของ PDPA กับกฎหมายอื่น
พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลจ่ายค่าสินไหม ทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 2 เท่าของค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงนั้น
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด
ค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด มีจำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหาย เพื่อการลงโทษได้ไม่เกิน 5 เท่าของ ค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด
พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545
ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่าย ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษ เพิ่มขึ้นจากจำนวนที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 2 เท่าของค่าสินไหมทดแทน
อย่างไรก็ตาม มาตรการทางแพ่งนี้ เป็นการนำมาใช้เพื่อการป้องปรามและป้องกันการกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อมูลจาก PDPC Thailand
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP