ไขข้อสงสัย PDPA ถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิดหรือไม่
ไขข้อสงสัย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA เริ่ม 1 มิ.ย.นี้ ถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม จะผิดกฎหมายหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงาน พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ย่อมาจากคำว่า Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2565 หลังเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562
ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก PDPC Thailand ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ได้เผยแพร่ 4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยระบุว่า
4 เรื่องไม่จริงเกี่ยวกับ PDPA
1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ตอบ กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ตอบ สามารถโพสท์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA
ตอบ การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้
ตอบ ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
(1) เป็นการทำตามสัญญา
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
ทั้งนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป
PDPA = พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
ตอนนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนตัวหรือ PDPA กำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคม ในฐานะทนายอยากมาแนะนำข้อกฎหมายจะได้ไม่หวาดกลัวกันจนเกินไปนะครับ การกระทำทั้งหมดขึ้นอยู่กับเจตนา การถ่ายภาพเพื่อประโยชน์ส่วนตัว นำไปลงสื่อโซเชียลโดยไม่เกิดรายได้ไม่ถือว่าผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่เพื่อมารยาทอันดี ถ้าติดภาพคนอื่นแล้วเขาท้วงติงมา ก็ควรลบเพื่อความสบายใจของบุคคลที่ไม่อยากอยู่ในรูปเรานะครับ การเซ็นเซอร์ก็เป็นทางออกที่ดีเช่นกัน
ข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก PDPC Thailand / เฟซบุ๊ก ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ
ภาพจาก AFP