TNN เปิดข้อมูล 5 ประเทศป่วย “โรคฝีดาษลิง” สูงสุด

TNN

สังคม

เปิดข้อมูล 5 ประเทศป่วย “โรคฝีดาษลิง” สูงสุด

เปิดข้อมูล 5 ประเทศป่วย “โรคฝีดาษลิง” สูงสุด

กรมควบคุมโรคพบว่า ขณะนี้ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นสะสม 431 คน พร้อมเผย 5 อันดับประเทศติดเชื้อสูงสุด ด้านองค์การอนามัยโลก ยืนยันว่า สามารถควบคุมการระบาดได้

วันนี้ ( 28 พ.ค. 65 )กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ระบาดโรคฝีดาษลิงทั่วโลก ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง รายงานพบผู้ป่วยรายแรกในประเทศที่ไม่ใช่พื้นที่โรคประจำถิ่นของโรคนี้ จนถึงวันที่ 27 พฤษภาคม พบผู้ป่วยทั้งหมด 431 คน (เพิ่มขึ้น 87 คน) โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ 

1.สเปน 139 คน 

2.อังกฤษ 85 คน 

3.แคนาดา 60 คน 

4.โปรตุเกส 58 คน 

5.เยอรมัน 13 คน 

โดยประเทศใหม่ที่พบผู้ป่วย ได้แก่ ไอร์แลนด์เหนือ  เวลส์  โบลิเวีย และซูดาน

ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขอาร์เจนตินา รายงานเมื่อวานนี้ พบผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงคนแรกของประเทศ และถือเป็นคนแรกของลาตินอเมริกา รวมทั้ง พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีก 1 คน โดยผู้ติดเชื้อคนแรกของอาร์เจนตินา เป็นชายชาวอาร์เจนตินา วัยประมาณ 40 ปี เพิ่งเดินทางกลับมาจากสเปน ซึ่งเป็นประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดของโลก ทำให้ลาตินอเมริกาเป็นพื้นที่ล่าสุดของโลก ที่พบผู้ติดเชื้อ หลังพบในยุโรป อเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง

เช่นเดียวกับที่ ฟินแลนด์ ที่เคยรายงานพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อฝีดาษลิง 1 คน ล่าสุด ผลตรวจออกมาแล้วยืนยันว่าติดเชื้อฝีดาษลิงจริง ถือเป็นผู้ติดเชื้อคนแรกและคนเดียวของฟินแลนด์ในขณะนี้ โดยผู้ติดเชื้อมีอาการไข้สูง มีตุ่มหนอง แต่อาการทั่วไปดี จึงไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล และขณะนี้พักฟื้นอยู่ที่บ้าน 

ส่วนที่ สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงเพิ่ม 1 คน ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในสหรัฐฯ เพิ่มจาก 9 คน เป็น 10 คน  ผู้ติดเชื้อดังกล่าว แยกกักตัวอยู่ที่บ้าน เนื่องจากอาการไม่หนัก และไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล

ด้านสำนักงานความมั่นคงด้านสาธารณสุข สหราชอาณาจักร หรือ ยูเคเอชเอสเอ (UKHSA) ออกคำแนะนำให้ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น หนูเจอร์บิล, หนูแฮมสเตอร์ และสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ เป็นเวลา 21 วัน 

เนื่องจากสัตว์ดังกล่าว อาจอ่อนไหวและไวต่อโรคนี้เป็นพิเศษ และอาจแพร่เชื้อในกลุ่มสัตว์ด้วยกันได้ ส่วนสัตว์อื่น ๆ เช่นสุนัขและแมว ควรแยกไว้นอกบ้าน และตรวจสุขภาพด้วย ทั้งนี้ ยังไม่พบกรณีที่สัตว์ติดเชื้อโรคฝีดาษลิง และความเสี่ยงยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ ข้อมูลการขาย เชื่อว่ามี 2 ล้านครัวเรือนในสหราชอาณาจักรเลี้ยงหนูไว้ในบ้าน 

ด้านศาสตราจารย์ลอว์เรนซ์ ยัง นักไวรัสวิทยาที่มหาวิทยาลัยวอร์วิค กล่าวว่า ความวิตกกังวล คือ ไวรัสฝีดาษลิงอาจแพร่เชื้อเข้าสู่สัตว์เลี้ยง และจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างสัตว์กับคนได้อย่างรวดเร็ว หากไม่ระมัดระวัง 

ซิลวี ไบรอันด์ ผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดอันตรายทั่วโลก แถลงในวันศุกร์ ว่า ความสำคัญอันดับแรก คือ การควบคุมการระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างรวดเร็ว ในประเทศที่ไม่ได้กำหนดให้โรคดังกล่าวเป็นโรคประจำถิ่น โรคฝีดาษลิง ซึ่งปกติแล้วผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการรุนแรง ถือเป็นโรคประจำถิ่นในหลายประเทศของแอฟริกา แต่ปัจจุบันนี้ มีการระบาดในประเทศที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นโรคประจำถิ่น เช่น ในยุโรปและสหรัฐฯ 

ดังนั้น หากบังคับใช้มาตรการที่ถูกต้องในขณะนี้ ก็สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้ พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนอย่าวิตกกังวล เพราะการระบาดช้ามากกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่น เช่น โคโรนาไวรัส นอกจากนี้ ยังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนหมู่ในขณะนี้ แต่ให้ฉีดวัคซีนตรงเป้าหมายสำหรับคนที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อ

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ