TNN โรคฝีดาษลิง ลักษณะอาการของโรคเป็นอย่างไร? พร้อมแนะวิธีป้องกัน

TNN

สังคม

โรคฝีดาษลิง ลักษณะอาการของโรคเป็นอย่างไร? พร้อมแนะวิธีป้องกัน

โรคฝีดาษลิง ลักษณะอาการของโรคเป็นอย่างไร? พร้อมแนะวิธีป้องกัน

กทม.ติดตามสถานการณ์พร้อมเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงใกล้ชิด พร้อมเปิดข้อมูลอาการของโรคและวิธีการป้องกัน


วันนี้ (25 พ.ค.65) นางวันทนีย์  วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงที่พบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ ซึ่งโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus) 

ไวรัสฝีดาษลิง 

เชื้อไวรัสฝีดาษลิง พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้ 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครโดยสำนักการแพทย์ ได้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข แม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะยังไม่ตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว เพื่อป้องกันการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากในระยะนี้เป็นช่วงที่เริ่มเปิดให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น อาจมีความเสี่ยงจากผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด การเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำธุรกิจ ในประเทศกลุ่มเสี่ยง อาจมีโอกาสติดเชื้อและนำกลับมายังประเทศได้ โดยมีกลุ่มเสี่ยงคือ แรงงานต่างชาติ หรือคนไทยที่ไปทำงานในประเทศที่มีการติดเชื้อ นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยว

อาการของโรคฝีดาษลิง 

อย่างไรก็ดี โรคฝีดาษลิง เป็นโรควินิจฉัยได้ยาก  อาการของโรคจะแสดงหลังจากติดเชื้อไปแล้วประมาณ 7-14 วัน โดยมีอาการคล้ายโรคฝีดาษ มีลักษณะอาการดังนี้ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย 

จากนั้นผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายตุ่มหนองจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ แต่ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต

วิธีการป้องกันโรคฝีดาษลิง 

วิธีการป้องกันให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรงและสิ่งของของผู้ป่วย รวมถึงลมหายใจของผู้ป่วย หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด ถ้าพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่น การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ 

การฉีดวัคซีน

แม้วัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ 

หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วย

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และหากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้สังเกตอาการ หากพบมีความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention โดยการหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ 

หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร โทร. 1646 ตลอด 24 ชั่วโมง


ข้อมูลจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ภาพจาก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ / รอยเตอร์

ข่าวแนะนำ