TNN พบ ‘วาฬโอมูระเผือก’ หายาก แหวกว่ายทะเลภูเก็ต คาดเป็นรายงานแรกของโลก

TNN

วิทยาศาสตร์

พบ ‘วาฬโอมูระเผือก’ หายาก แหวกว่ายทะเลภูเก็ต คาดเป็นรายงานแรกของโลก

พบ ‘วาฬโอมูระเผือก’ หายาก แหวกว่ายทะเลภูเก็ต คาดเป็นรายงานแรกของโลก

พบ ‘วาฬโอมูระเผือก’ สายพันธุ์หายาก ว่ายทะเลอวดโฉมใกล้เกาะเฮ จ.ภูเก็ต คาดพบเป็นรายงานแรกของโลก

จากกรณีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถบันทึกคลิปวาฬเผือกขนาดใหญ่ ว่ายอวดโฉม ที่กลางทะเลบริเวณเกาะพีพี ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ ซึ่งสร้างความตื่นเต้นแก่นักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมาก


ด้านนายยุทธพงศ์ ดำศรีสุข  หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า วาฬเผือกที่เจอนี้ เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าเป็นวาฬชนิดไหน แต่ถือว่าเป็นที่น่ายินดี ที่เจอวาฬเผือกในท้องทะเลกระบี่ นับว่าเป็นตัวแรกของจ.กระบี่เลยทีเดียว หรืออาจจะเป็นตัวแรกของประเทศไทยก็เป็นได้อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูล ขณะนี้สั่งเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจพิกัดที่แน่ชัด และขอความร่วมมือผู้ประกอบการเดินเรือนำเที่ยว เดินเรือด้วยความระมัดระวัง


พบ ‘วาฬโอมูระเผือก’ หายาก แหวกว่ายทะเลภูเก็ต คาดเป็นรายงานแรกของโลก


ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ผ่าน Facebook : Thon Thamrongnawasawat โดยระบุว่า มี ข้อมูลยืนยันชัดเจนพร้อมระบุพิกัดโดยเจ้าของคลิป เรามีวาฬเผือก รายงานแรกของไทย และ น่าจะเป็น ‘วาฬโอมูระเผือก’ รายงานแรกของโลก


ทั้งนี้ ผศ.ดร.ธรณ์  ระบุว่าภาพจากคลิปพอบอกได้ว่าเป็น ‘วาฬโอมูระ’ ที่หายาก และ วาฬตัวนี้เป็นวาฬเผือก ซึ่งทวีคูณความหายากเข้าไปอีก วาฬชนิดนี้  พบเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงตอนใต้ญี่ปุ่น ในไทยมีรายงานน้อยกว่าบรูด้าอย่างเห็นได้ชัด ปรกติจะเจอฝั่งอันดามัน ในอ่าวไทยมีบ้างแต่น้อยกว่า และอยู่ลงไปทางใต้ ไม่ค่อยเข้ามาในอ่าวไทยตอนใน โอกาสที่เราลงเรือดูวาฬแถวสมุทรสงคราม, เพขรบุรีแล้วเจอวาฬโอมูระแทบไม่มี ส่วนใหญ่มักเป็นนักท่องเที่ยวไปสิมิลัน สุรินทร์ พีพี เกาะรอบภูเก็ต ที่รายงานเข้ามา



ขณะที่เพจ ThaiWhales  เปิดเผยข้อมูลว่า พิกัดที่เจอ ‘วาฬเผือก’ พบเมื่อวันที่  1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา จุดที่พบระยะทางประมาณ 9 กม. ทางใต้ของเกาะคอรัล หรือ เกาะเฮ ของจังหวัดภูเก็ต  โดยพบ "พบวาฬสองตัวที่คิดว่าน่าจะเป็นวาฬชนิดเดียวกัน ว่ายอยู่ด้วยกัน ตัวหนึ่งมีสีขาวสวยงาม อีกตัวหนึ่งสีปกติ ซึ่งคุณก้อยเจ้าของคลิปวาฬเผือก ได้ตั้งชื่อ ตั้งชื่อสำหรับวาฬสีขาวว่า ‘ถลาง’ และ ‘บูกิต’ สำหรับวาฬสีปกติ 

ทั้งนี้ข้อมูลยืนยันสายพันธุ์  ThaiWhales ระบุว่าผ่านเพจว่า หลังจากได้คลิปชัดเจนขึ้น ได้เห็นสันกลางสันเดียวที่หัว, ทรงครีบ, ทรงตัว, ท่วงท่า ผู้เชี่ยวชาญ และสัตส์แพทย์จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คาดว่า วาฬสีขาวห รือวาฬเผือกตัวนี้ น่าจะเป็น ‘วาฬโอมูระ’


ทั้งนี้ วาฬโอมูระ  (อังกฤษ: Omura's whale) เป็นวาฬสายพันธุ์หายากที่มีความใกล้เคียงกับวาฬบรูด้า ถูกค้นพบครั้งแรกจากซากของมันในปี ค.ศ. 2003 และเมื่อพิจารณาจากซากแล้วจึงพบว่ามีความต่างจากวาฬบรูด้าคือวาฬโอมูระนั้นมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ที่โตเต็มวัยยาวเพียง 10 เมตร ตัวเมียยาวเพียง 11.5 เมตร รอยจีบใต้ลำคอมีจำนวนมากกว่า คือ 80 – 90 รอยจีบ และมีครีบหลังที่สูงกว่าและมีความโค้งน้อยกว่าของวาฬบรูด้า


วาฬโอมูระนั้นเป็นวาฬในวงศ์วาฬแกลบที่หายากและมีผู้คนรู้จักน้อย ชื่อของมันนั้นตั้งตามชื่อนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลชาวญี่ปุ่นนามว่าฮิเดโอะ โอมูระซึ่งเป็นผู้ค้นพบวาฬโอมูระ ในปี พ.ศ. 2546 สถานภาพในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2562


ข้อมูลจาก: Thon Thamrongnawasawat , ThaiWhales 

ภาพจาก: ThaiWhales , Happy Ours Phuket

ข่าวแนะนำ