TNN หนองคายน้ำโขงลดจระเข้โผล่กลางน้ำท่วม

TNN

ภูมิภาค

หนองคายน้ำโขงลดจระเข้โผล่กลางน้ำท่วม

หนองคายน้ำโขงลดจระเข้โผล่กลางน้ำท่วม

นครพนม น้ำโขงหนุนลำน้ำสาขา ล้นท่วมบ้านเรือน ทุ่งนา ชาวบ้านต้องต้อนฝูงควายไปเลี้ยงบนเกาะกลางน้ำ ส่วนที่หนองคาย น้ำโขงลดระดับ ย่านเศรษฐกิจกลางเมืองน้ำแห้งแล้ว ขณะที่ชาวบ้านผวาพบจระเข้โผล่กลางน้ำท่วม

สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดหนองคาย มีแนวโน้มดีขึ้น ระดับน้ำโขงวันนี้อยู่ที่ 12 เมตร 57 เซนติเมตร ลดลงจากเมื่อวานนี้ 60 เซนติเมตร แต่ยังสูงกว่าตลิ่ง 35 เซนติเมตร แนวโน้มนับจากนี้น้ำโขงจะลดลงเรื่อยๆ แต่ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์นี้ 


ถนนประจักษ์ศิลปาคม ย่านเศรษฐกิจกลางเมืองหนองคาย น้ำเริ่มลดลง บางจุดน้ำแห้งแล้ว ประชาชนพากันออกมาทำความสะอาดบ้านเรือน ฉีดล้างดินโคลน ส่วนบริเวณหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย จนถึงหน้าตลาดสดโพธิ์ชัย น้ำยังท่วสูงประมาณ 40 เซนติเมตร 


ด้าน สำนักงานประมงจังหวัดหนองคาย ได้รับแจ้งจากชาวบ้านตำบลวัดธาตุ อำเภอเมืองหนองคาย พบจระเข้ในพื้นที่น้ำท่วม เจ้าหน้าที่จึงระดมกำลังออกค้นหา จนสามารถจับจระเข้ความยาวประมาณ 2 เมตร หนักประมาณ 60-70 กิโลกรัม นำไปอนุบาลไว้ที่ศูนย์วิจัยประมงจ้ำจืดหนองคาย อำเภอศรีเชียงใหม่ 


หนองคายน้ำโขงลดจระเข้โผล่กลางน้ำท่วม


ส่วนที่จังหวัดนครพนม แม่น้ำโขงยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 11 เมตร 80 เซนติเมตร ห่างจากจุดวิกฤติล้นตลิ่งประมาณ 20 เซนติเมตร ไม่เพียงส่งผลให้น้ำโขงเริ่มเอ่อล้นตลิ่งท่วมตามพื้นที่ลุ่ม ยังกระทบลำน้ำสาขาสายหลักทั้งลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม ปริมาณล้นความจุ เนื่องจากไหลระบายลงลำโขงไม่ทัน 


โดยเฉพาะพื้นที่บ้านท่าบ่อ ตำบลท่าบ่อสงคราม อำเภอศรีสงคราม ถือเป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัย มีบ้านเรือนติดกับลำน้ำสงครามมากกว่า 300 หลัง เริ่มได้รับผลกระทบจากลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม เอ่อล้นตลิ่ง ส่งผลให้หมู่บ้านอยู่ในสภาพถูกล้อมรอบเหมือนเป็นเกาะกลางน้ำ และเริ่มท่วมบ้านเรือนติดริมน้ำบางส่วน นอกจากนี้ยังมีนาข้าวถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 40,000 ไร่ 


ที่สำคัญบริเวณนี้ยังเป็นหมู่บ้านเลี้ยงควายจำนวนกว่า 1,000 ตัว ชาวบ้านต้องต้อนฝูงควายขึ้นไปไว้บนเกาะไก่แก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่สูงอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร เนื่องจากไม่สามารถปล่อยให้หากินตามธรรมชาติได้ ต้องแบกภาระดูแล จัดหาฟางแห้งอัดก้อนเป็นอาหารจนกว่าน้ำจะลด โดยบางรายต้องซื้อฟางแห้งอัดก้อนวันละกว่า 1,000 บาท หากระดับน้ำไม่ลดจะต้องแบกภาระเพิ่มขึ้นเดือนละ 1 - 2 หมื่นบาท แม้จะมีหน่วยงานภาครัฐนำฟางแห้งอัดก้อนมาสนับสนุนแต่ก็ยังไม่เพียงพอ 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง