10 อุทยานฯ ปะการังฟอกขาวตาย ส.ค.-ก.ย. สิ้นสุดสถานการณ์ฟอกขาว ลุ้นจำนวนปะการังรอด-ตาย ?
กรมอุทยานฯ พบปะการังฟอกขาวตายแล้วบางส่วนใน 10 อุทยาน แต่ก็พบอัตราการฟอกขาวเริ่มลดลง และมีสัญญาณการฟื้นตัว ด้านนักวิชาการชี้ ส.ค.-ก.ย. สิ้นสุดการฟอกขาว ลุ้นปะการังฟื้น
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายสุธีรพันธ์ สวัสดิ์กุลดิลก ผู้อำนวยการส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล (สทล.) สำนักอุทยานแห่งชาติ ถึงข้อมูลสำรวจสถานการณ์การเกิดปะการังฟอกขาว ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน - 2 กรกฎาคม พบปะการังฟอกขาวในพื้นที่ 21 อุทยานแห่งชาติทางทะเล จาก 26 อุทยาน รวม 194 บริเวณ
โดยมีปะการังตายจากการฟอกขาวแล้วใน 10 อุทยาน รวม 41 บริเวณ แบ่งเป็น ตายระดับสูง ร้อยละ 31-50 จำนวน 3 บริเวณ , ตายระดับปานกลาง ร้อยละ 11-30 จำนวน 15 บริเวณ , ตายระดับปานกลาง ร้อยละ 1-ร้อยละ 10 จำนวน 23 บริเวณ
ทั้งนี้ การตายของปะการังจากการฟอกขาว เกิดขึ้นเนื่องจากปะการังมีการฟอกขาวนานติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ประกอบกับอุณหภูมิน้ำทะเลยังสูงกว่า 29 องศาเซลเซียส ทำให้ปะการังบางบริเวณไม่สามารถฟื้นตัวได้ หรือฟื้นตัวได้ช้า ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลสถานการณ์ปะการังฟอกขาวของเดือนมิถุนายนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 พบว่า ปะการังบางพื้นที่มีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ อัตราการฟอกขาวเริ่มลดลง และได้เร่งสั่งการให้อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่พบปะการังตายจากการฟอกขาว แต่ยังไม่มีมาตรการประกาศปิดพื้นที่ฉุกเฉินให้เร่งดำเนินการประกาศปิดโดยด่วนแล้ว
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ถึงการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ระบุว่า การสำรวจวิจัยแบ่งเป็น 5 ช่วงเวลา คือ ก่อนฟอกขาว , ฟอกขาว , ช่วงพีค , ช่วงหลังพีค และสิ้นสุด ตอนนี้ทีมวิจัยจากคณะประมงอยู่ที่ทะเลเกาะเต่า และกำลังทำวิจัยอยู่ในช่วงที่ 4 คือ "หลังพีค" ซึ่งหมายถึงน้ำทะเลเย็นลงแล้ว แต่ปะการังบางส่วนยังฟอกขาวอยู่
ขณะที่ผลการสำรวจในอ่าวไทยในพื้นที่ “ได้รับผลกระทบรุนแรง” อาจออกมาคล้ายกัน โดยหากแบ่งปะการังที่ฟอกขาวเป็น 5 ส่วน พบว่า 3 ส่วนยังฟอกขาวอยู่ / 1 ส่วนเริ่มฟื้น / และ 1 ส่วนตาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยแต่ละที่ต่างกัน โดยเฉพาะในช่วงใกล้สิ้นสุดปะการังกำลังพยายามฟื้นด้วยการเรียกสาหร่ายจิ๋วที่เคยปล่อยออกไปให้กลับคืนมา ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ต้องดูแลทะเลอย่างจริงจัง ไม่ควรมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบรบกวนการฟื้นของปะการัง
พร้อมย้ำการสำรวจช่วงสุดท้าย ขั้นตอนที่ห้า เหตุการณ์สิ้นสุด จะเป็นตัวตัดสินว่าจะช่วยปะการังไทยได้แค่ไหน และยังเป็นขั้นตอนสำคัญเพื่อรับมือกับฟอกขาวในอนาคต โดยช่วงสุดท้ายจะอยู่ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
ข้อมูล : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , FB Thon Thamrongnawasawat
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , ทีมกราฟิก TNN
ข่าวแนะนำ