TNN เปิดเส้นทาง "แม่น้ำยม" วิกฤต "สุโขทัย" เสี่ยงจม

TNN

ภูมิภาค

เปิดเส้นทาง "แม่น้ำยม" วิกฤต "สุโขทัย" เสี่ยงจม

เปิดเส้นทาง แม่น้ำยม วิกฤต สุโขทัย เสี่ยงจม

นายกรัฐมนตรีรับห่วงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย ขณะที่เส้นทางน้ำลุ่มเจ้าพระยาพบว่าที่น่าเป็นห่วงคือลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็น 1 ใน 4 แม่น้ำสายหลักที่มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม แผนบริหารจัดการน้ำยังสามารถรับมือได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุหลังประชุมหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำว่า  ได้หารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากภาคเอกชน ร่วมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้ความสำคัญมากเป็นอันดับต้น ๆ คือ เรื่องของน้ำ เพราะถือเป็นปัจจัยสำคัญในภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงปลายฤดูฝน สร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในภาคการผลิตว่า ประเทศไทยจะมีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง และต้องดูแลเกษตรกรให้ไม่ได้รับผลกระทบด้วย


โดยมอบหมายให้กรมชลประทานทำแผนการผันน้ำเข้าพื้นที่อ่างเก็บน้ำมานำเสนอในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ ตั้งเป้าวางแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยตนจะเป็นเจ้าภาพ ของคณะทำงานชุดนี้ เพื่อให้การทำงานระหว่างกระทรวงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ


นายเศรษฐา ยังกล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดสุโขทัยว่า ภาพรวมขณะนี้ยังเป็นห่วง พื้นที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบหนัก ต้องบูรณาการเร่งช่วยเหลือทุกเรื่อง ทั้งถนน พืชผลการเกษตร และความเป็นอยู่ของประชาชน ยอมรับเป็นห่วงสถานการณ์ในจังหวัดลำปาง แพร่ และอุบลราชธานี  แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงบ้าง แต่ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และในวันที่  6 ต.ค.นี้ ตนจะลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อไปดูและเตรียมมาตรการ รับน้ำที่จะไหลไปยังจังหวัดอุบลราชธานี 



เปิดเส้นทางน้ำยมวิกฤตเสี่ยงจมสุโขทัย


เมื่อมาดูสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา พบว่าแม่น้ำปิง ปริมาณน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง ขณะที่แม่น้ำวัง จุดบริเวณ อ.สามเงา จ.ตาก น้ำล้นตลิ่งสูงกว่า 1 เมตร แต่ที่น่ากังวล คือ แม่น้ำยมหลังฝนตกหนักในพื้นที่ อ. วังชิ้น จ.แพร่ น้ำไหลผ่านในอัตรา 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 29 ก.ย. และน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 1340 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 1.ต.ค.ที่ผ่านมา ไหลผ่านอำเภอศรีสัชนาลัย และผ่านประตูระบายนัำหาดสะพานจันทร์อยู่ที  800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยตัดน้ำออกสู่คลองหกบาท ผ่านแม่น้ำยมสายเก่า และตัดออกสู่แม่น้ำน่าน เพื่อชะลอน้ำไว้ และใช้พื้นที่ทุ่งบางระกำรับน้ำกว่า 2000 ไร่ เป็นจุดรับน้ำก้อนนี้ ซึ่งทุ่งบางระกำรับน้ำได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร เวลานี้มีน้ำอยู่ 200 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยมวลน้ำจากแท่น้ำยมจะใช้เวลา 2-3 วัน ไหนไปรวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจุดวัดน้ำ c7  จังหวัดนครสวรค์วัดปริมาณน้ำไหลผ่าน เมื่อเวลา 17.00 น.ของวันที่ 2 ตุลาคม อยู่ที่ 1660 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะทำการตัดน้ำออกสู่แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย ประมาณ 330 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที 1330 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะกระทบกับคลองโผงเผง และบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


สุโขทัยน้ำท่วม 9 อำเภอเสี่ยงขยายวง


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้สั่งให้เฝ้าระวังพื้นที่ในจังหวัดสุโขทัย เป็นพิเศษเพราะในพื้นที่ ตำบลปากแคว อำเภอเมือง ได้เกิดดินสไลด์ ส่งผลให้น้ำทะลักเข้ามาแล้ว ซึ่งต้องช่วยกันติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า แม่น้ำยม เป็นแม่น้ำสายเดียว ที่ไม่มีเขื่อนรองรับ จึงทำให้น้ำเกิดน้ำท่วม เพราะมวลน้ำที่ไหลมา มีจำนวนมากถึง 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขัง


สำหรับสถานการณ์ น้ำท่วมสุโขทัย  พบว่ามีพื้นที่ 9 อำเภอได้รับผลกระทบแล้ว และมีประชาชน ได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 2,007 ครัวเรือน เป็นพื้นที่กว่า 62,483 ไร่ นอกจากนี้ ยังพบว่า ที่น่าเป็นห่วงเพิ่มเติม คือ ตำบลปากแคว ตำบลยางซ้าย อำเภอเมือง เกิดคันดินคอสะพานขาด พื้นที่อำเภอศรีสำโรง พนังกั้นน้ำบริเวณสะพานสิริปัญญารัตน์ เกิดแยกตัว และพื้นที่อำเภอสวรรคโลก น้ำเอ่อล้นตลิ่งคันคลอง และบริเวณคอสะพานหลายจุด ตนจึงฝากเตือนพี่น้องประชาชน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดด้วย เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด


ด้านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สั่งเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม 24 ชั่วโมง หลังเขื่อนเจ้าพระยาเปิดประตูระบายน้ำโดยพื้นที่ลุ่มเริ่มได้รับผลกระทบ วอนประชาชนอย่าตื่นตระหนก ขอติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ขณะที่ เขื่อนป่าสักฯ ,เขื่อนพระรามหก คุมระบายน้ำไม่ให้กระทบท้ายเขื่อน



ภาพ : ผู้สื่อข่าว สุโขทัย 

ข่าวแนะนำ