TNN เปิดรายชื่อจังหวัดระวังน้ำหลาก-ท่วมฉับพลันช่วง 19-25 พ.ค. "กทม.-ปริมณฑล" ไม่รอด!

TNN

ภูมิภาค

เปิดรายชื่อจังหวัดระวังน้ำหลาก-ท่วมฉับพลันช่วง 19-25 พ.ค. "กทม.-ปริมณฑล" ไม่รอด!

เปิดรายชื่อจังหวัดระวังน้ำหลาก-ท่วมฉับพลันช่วง 19-25 พ.ค.  กทม.-ปริมณฑล ไม่รอด!

กอนช. เปิดรายชื่อจังหวัดพร้อมเตือนเกือบทุกภาคระวังน้ำหลาก-น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 19-25 พ.ค.

วันนี้(18 พ.ค. 65) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเรื่อง "เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน" โดยจากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในช่วงวันที่ 19-23 พ.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝน คาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งทำให้พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม มีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 19-25 พ.ค. 65 ดังนี้ 

- ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี 

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร และนครพนม

- ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล 

 - ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด

 - ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. เตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

ภาพจาก : AFP

ข่าวแนะนำ