"สมองเสื่อม" ไม่มีใครอยากเป็น พฤติกรรมแบบไหน ทำให้เกิดความเสี่ยง?
นพ.ธีระวัฒน์ เปิดข้อมูล "สูงวัย เนือยนิ่ง ทอดหุ่ยกับสมองเสื่อม" พฤติกรรมแบบไหน ทำให้เกิดความเสี่ยง?
นพ.ธีระวัฒน์ เปิดข้อมูล "สูงวัย เนือยนิ่ง ทอดหุ่ยกับสมองเสื่อม" พฤติกรรมแบบไหน ทำให้เกิดความเสี่ยง?
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอธีระวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับ "“สูงวัย” เนือยนิ่ง ทอดหุ่ยกับสมองเสื่อม หมอดื้อ"
โดยระบุว่า “สว.” คือ “สูงวัย” จะมีพฤติกรรมชอบเนือยนิ่ง (Sedentary behavior) และเป็นที่ทราบชัดเจนแล้วว่า การนั่งหรือเอน ทอดหุ่ย ขี้เกียจ ดูแต่ทีวี งีบหลับเป็นพักๆ ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตในทุกสาเหตุ ทำให้โรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ ที่เราเรียกกันว่า NCD หรือโรคคาร์ดิโอเมตาบอลิก อันได้แก่ อ้วนลงพุง ความดันสูง เบาหวาน ไขมันสูง ไม่มีตัวดีมีแต่ไขมันเลว อีกทั้งมีโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดในอวัยวะต่างๆ กลับรุนแรงมหาศาลขึ้น
แต่ในทางกลับกัน การออกกำลังมีพฤติกรรมกระฉับกระเฉงกลับช่วยโรคเหล่านี้ทั้งหมด ตายก็น้อยกว่า อายุยืนยาวกว่า มิหนำซ้ำ สมองกลับดีอีกต่างหาก โอกาสที่จะพัฒนากลายเป็นสมองเอ๋อ กระทั่งถึงมีสมองเหี่ยวฝ่อ จนเข้าเกณฑ์สมองเสื่อมชัดเจน ช่วยตนเองไม่ได้ ขาดความมีเหตุมีผลในการตัดสินใจ เกิดคดีความฟ้องร้องในครอบครัว ลูกหลานจากการแย่งสมบัติและเกี่ยวเนื่องกับพินัยกรรมที่เห็นกันอยู่บ่อยๆ
แต่กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะทั้งขู่ทั้งปลอบให้กระฉับกระเฉง (physical activity) เคลื่อนไหว ออกกำลัง แต่ประชากร สว. จะด้วยทั้งมีข้อจำกัดทางกายภาพ ปวดเอวสะโพก เข่า รวมทั้ง ความขี้เกียจ และอ้างว่าทำงานมาทั้งชีวิตแล้ว ขออยู่เฉยๆบ้าง ปัญหานี้เกิดขึ้นทั่วโลกและพฤติกรรมทอดหุ่ยจะพบมากกว่าครึ่งในผู้ใหญ่ ทั้งในยุโรปและในสหรัฐฯและอัตราส่วนดูจะสูงทะยานขึ้นเรื่อยๆในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ในยุคปัจจุบันนี้ ชีวิตง่ายขึ้นเยอะที่มีสมาร์ทวอตช์ ก็สามารถที่จะวัดการใช้พลังงานได้แม่นยำและสามารถที่จะจำแนก แจกแจงว่าเป็นการเดินกี่ก้าว และขณะจ็อกกิ้ง ตีแบดมินตัน เทนนิสหรือว่ายน้ำ เป็นต้น
คำถามก็คือ ถ้าคนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเนือยนิ่งทอดหุ่ย จะมีอะไรที่ช่วยบรรเทาหรือลดความเสี่ยงของสมองเสื่อมไปได้หรือไม่ ทั้งนี้ เป็นโจทย์ใหญ่โดยทำการเปรียบเทียบประชากรสูงวัยที่ใช้เวลาดูทีวีหรือในขณะที่นั่งนิ่งๆนั้น ทำคอมพิวเตอร์ไปด้วย
รายงานการศึกษานี้ ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ PNAS เดือนสิงหาคม 2022 โดยใช้ข้อมูลจากคลัง UK Biobank ที่มีการรายงานด้วยตนเอง ถึงระดับพฤติกรรมทอดหุ่ย หรือกระฉับกระเฉง พร้อมกันนั้น ติดตามว่าเกิดสมองเสื่อมขึ้นมากน้อยเท่าใด โดยมีการพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องทางด้านสุขภาพทั้งหมด นิสัยการบริโภค ชนิดของอาหาร การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เชื้อชาติ ดัชนีมวลกาย โรคประจำตัวอย่างอื่น เป็นต้น
ในประชากรจำนวน 146,651 คนที่อายุ 60 ปีหรือมากกว่าโดยอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 64.59 ปีและไม่ได้มีสมองเสื่อมตั้งแต่เริ่มต้น ดูระยะเวลาที่เอาแต่ดูทีวีหรือระยะเวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์ และเวลาที่มีการเคลื่อนไหว
ในการติดตามระยะยาวโดยเฉลี่ยถึง 11.87 ปี มีคนที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นสมองเสื่อม 3,507 ราย โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์ทางสถิติอย่างละเอียดจะพบว่ายิ่งใช้เวลาเนือยนิ่ง เอาแต่ดูทีวีมากเท่าไหร่ จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นสมองเสื่อมมากเท่านั้น แต่กลับกันก็คือ ถ้าใช้เวลาในช่วงนั้นทำงานกับคอมพิวเตอร์จะลดโอกาสหรือความเสี่ยงที่สมองจะเสื่อมลงไปได้
ทั้งนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณหรือระยะเวลาที่มีการเคลื่อนไหวกระฉับกระเฉง โดยสภาพที่จะมีการออกกำลังอยู่บ้างจะไม่ช่วยลดทอนหรือบรรเทาโอกาสที่จะเกิดสมองเสื่อมไปได้ ถ้ายังเอาแต่เฝ้าดูทีวีนานๆ โดยแทบไม่ได้กระดุกกระดิกเลย
บทสรุปของคณะผู้วิจัยให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ โดยการที่จะทำให้แข็งแรง สมองสดใสไปได้นานเท่านาน อยู่ที่การทำตนไม่เฉื่อยชา ต้องกระปรี้กระเปร่า มีการเคลื่อนไหวออกกำลัง และในขณะที่พักผ่อน ต้องไม่พยายามใช้เวลาในการเฝ้าดูแต่ทีวี ซึ่งไม่ได้เป็นการบริหารสมองใดๆทั้งสิ้น การมีกิจกรรมด้วยการทำกับคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ที่ในปัจจุบัน คนไทยเล่นมือถือกันน่าจะเป็นการช่วยฝึกสมอง แต่ทั้งนี้กิจกรรมเหล่านี้ เป็นเพียงการชะลอเวลาที่ภาวะสมองเสื่อมจะปรากฏตัวขึ้นเท่านั้น
แต่พยาธิสภาพหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนื้อสมองจะยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ ถ้าไม่สามารถปรับปรุงตัวเอง คุมโรค NCD ให้ได้ ออกกำลังเหมือนอย่างที่หมอพูดทุกครั้ง เดิน 10,000 ก้าว เป็นเรื่องจริงไม่ใช่มั่วนิ่ม ตากแดดได้แสงยูวี และแสงในระดับคลื่นใกล้อินฟราเรด เข้าใกล้มังสวิรัติ
ไม่มีใครอยากเป็นสมองเสื่อม และถ้าเสื่อมไปแล้วก็ไม่รู้ตัว กลายเป็นภาระให้คนอื่นดูแล และคนที่ดูแลก็จะถูกตัดโอกาสในการใช้ชีวิตที่ควรจะเป็น รวมกระทั่งถึงการทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยกลับตัวกลับใจแต่วันนี้ ถึงจะสายไปบ้าง ก็ยังชะลอได้อยู่
สบายสมอง ธีระวัฒน์
YouTube EP6 รอดชะตากรรมจากสมองเสื่อมต้องทำอะไรบ้าง
ที่มา ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
ภาพจาก TNN Online