ช็อก! พบไมโครพลาสติก ปนเปื้อนใน “น้ำนมแม่”

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Clinical Medicine เมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 โดยทีมนักวิจัยชาวไทย ได้เผยข้อมูลที่น่ากังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในน้ำนมแม่ การศึกษานี้ดำเนินการในกลุ่มหญิงไทยหลังคลอดจำนวน 59 คน พบว่ามีไมโครพลาสติกในน้ำนมแม่ของผู้เข้าร่วมการศึกษาถึง 38.98% หรือ 23 ตัวอย่างจากทั้งหมด โดยอายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างอยู่ที่ประมาณ 28 ปี

การวิจัยนี้ใช้เทคนิค “สเปกโตรสโกปี” แบบรามาน ซึ่งเป็นวิธีวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบโครงสร้างของโมเลกุลอย่างแม่นยำ พบว่าไมโครพลาสติกที่พบมากที่สุดคือ โพลิโพรพีลีน (PP), โพลีเอทิลีน (PE) และพอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) นอกจากนี้ยังพบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านสุขอนามัยของมารดาและภาวะแทรกซ้อนระหว่างกลุ่มที่ตรวจพบและไม่พบไมโครพลาสติก

สำหรับ “ไมโครพลาสติก” เป็นชิ้นส่วนของพลาสติกขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มิลลิเมตร และบางชิ้นเล็กมากจนถึงระดับนาโนเมตร ซึ่งอาจเล็กจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ผู้เชี่ยวชาญระบุว่านาโนพลาสติกเป็นสิ่งที่น่ากังวลที่สุด เพราะสามารถแทรกซึมผ่านเนื้อเยื่อของร่างกาย เข้าสู่ปอด กระแสเลือด ตับ รก น้ำนมแม่ ปัสสาวะ และอุจจาระ

ไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ทั้งในอากาศ น้ำ แม่น้ำ ทะเล ฝน หิมะ และแหล่งน้ำดิบ ซึ่งอาจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหาร ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด หรือแม้แต่การสูดอากาศที่มีอนุภาคขนาดเล็กปะปน

ช็อก! พบไมโครพลาสติก ปนเปื้อนใน “น้ำนมแม่”

สรุปข่าว

ช็อก! งานวิจัยพบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำนมแม่ เสี่ยงส่งผลกระทบต่อสุขภาพทารก

พลาสติกประเภทที่พบมากในร่างกาย ได้แก่

  • โพลิโพรพีลีน (PP) ใช้ทำบรรจุภัณฑ์อาหารที่ผ่านการรับรองว่าเป็นเกรดอาหาร เช่น ถุงร้อน แก้วกาแฟร้อน ภาชนะสำหรับใช้กับไมโครเวฟ และถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
  • โพลีเอทิลีน (PE) พบในขวดน้ำพลาสติก ฝาขวด ของเล่นเด็ก ฟิล์มหุ้มขวด กล่องเก็บอาหาร และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
  • พอลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) พบในซองยา ฟิล์มถนอมอาหาร เสื้อกันฝน บัตรเครดิต สายยาง และม่านห้องน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งของที่ใช้งานแพร่หลาย

ไมโครพลาสติกไม่ใช่ปัญหาใหม่ ก่อนหน้านี้ก็มีการค้นพบอนุภาคพลาสติกในเนื้อเยื่อของมนุษย์มาแล้ว และในต่างประเทศก็มีรายงานการพบไมโครพลาสติกในน้ำนมแม่ก่อนหน้านี้เช่นกัน งานวิจัยอีกชิ้นยังชี้ให้เห็นว่า ในน้ำดื่มบรรจุขวด 1 ลิตร อาจมีอนุภาคพลาสติกมากถึง 240,000 ชิ้น โดย 90% เป็นนาโนพลาสติก จากข้อมูลเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า มนุษย์อาจได้รับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเฉลี่ยสูงถึง 5 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักของบัตรเครดิตหนึ่งใบ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพลาสติกจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่เราสามารถลดการสัมผัสและบริโภคไมโครพลาสติกได้ โดยหลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะพลาสติกกับอาหารร้อน หันมาใช้วัสดุที่ปลอดภัยกว่า เช่น แก้วหรือสเตนเลส เลือกดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการกรอง ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก หลอด และถุงพลาสติก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่ปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายได้

แม้ว่าการหลีกเลี่ยงพลาสติกโดยสิ้นเชิงอาจเป็นไปได้ยาก แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากไมโครพลาสติกได้ในระยะยาว

ที่มาข้อมูล : TNN Earth

ที่มารูปภาพ : ENVATO