TNN “น้ำผึ้งเดือนห้า” ของดีช่วง “หน้าแล้ง” จนครูเพลงนำไปเปรียบกับ “ความรัก”

TNN

บันเทิง

“น้ำผึ้งเดือนห้า” ของดีช่วง “หน้าแล้ง” จนครูเพลงนำไปเปรียบกับ “ความรัก”

“น้ำผึ้งเดือนห้า”  ของดีช่วง “หน้าแล้ง”  จนครูเพลงนำไปเปรียบกับ “ความรัก”

หน้าแล้งที่ใคร ๆ ก็พาลเกลียด กลับทำให้เกิด "น้ำผึ้งเดือนห้า" ที่แสนหอมหวาน เสียจนครูเพลงต้องนำไปเปรียบเทียบกับ "ความรัก" เลยทีเดียว

ในช่วงที่ผ่านมานั้น ถือได้ว่าประเทศไทยเผชิญ“ฤดูแล้ง” แบบเต็มอัตรา ส่งผลกระทบมหาศาลต่อภาคการเกษตร รวมไปถึงการบริโภคของภาคประชาชน แม้จะมีการประกาศจากภาครัฐว่าในปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้าจะมีแนวโน้มเข้าสู่ฤดูฝนก็ตาม


แม้หน้าแล้ง อาจจะส่งผลเสียนานัปประการ แต่มีอยู่สิ่งหนึ่ง ที่จะต้องเข้าสู่ช่วงหน้าแล้งเท่านั้น จึงจะ “เปล่งประกายดั่งทองคำ” ทั้งในด้านรสชาติและมูลค่า สิ่งนั้นคือ “น้ำผึ้งเดือนห้า”


“เหตุใดต้องเดือนห้า” เป็นเดือนอื่นไม่ได้หรือ และที่สำคัญไปกว่านั้น จากรอยทาง “ประวัติศาสตร์เพลงไทย” ยังพบอีกว่า ได้มีการนำน้ำผึ้งเดือนห้าไป “เปรียบเปรย” กับ “ความหอมหวานของความรัก” อีกด้วย


ร่วมติดตามเรื่องราวดังกล่าวได้ ณ บัดนี้


หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า


 เดือนห้าที่ว่า เป็นเดือนห้า “ตามปฏิทินจันทรคติ” ที่อยู่ในช่วงประมาณเดือนมีนาคม - เมษายน ตาม “ปฏิทินแบบสุริยคติ” 


ในระหว่างเดือนนี้ เป็นช่วงเวลาที่ผึ้งจะให้ผลผลิตออกมา “ได้คุณภาพดีที่สุด” ใน 12 เดือน เพราะเป็นช่วง “อากาศแห้ง” น้ำผึ้งที่ได้จะมี “ความชื้นต่ำ” และมี “ความเข้มข้นสูง” จึงทำให้ “ความหวานหอม” ของน้ำผึ้งมีมากตามไปด้วย


ยิ่งไปกว่านั้น เดือนห้ายังเข้าสู่ช่วงที่ “ดอกไม้ป่าต่าง ๆ เบ่งบานเต็มที่” นั่นหมายความว่า เกสรของบรรดาดอกไม้นี้ จะผลิต “น้ำหวาน” ออกมาได้จำนวนมาก และจะหวานหอมเป็นพิเศษ แน่นอน เมื่อผึ้งมากินน้ำหวานตรงนี้ไป ก็จะส่งเสริมให้น้ำผึ้งเดือนห้า ยิ่งพิเศษกว่าเดือนอื่น ๆ เรื่องความหวานไปอีกขั้น


ในยุคสมัยก่อน ที่ยังไม่ได้มีการเพาะเลี้ยง หรือทำอุตสาหกรรมน้ำผึ้ง การเฝ้าคอยที่จะ “เก็บผลผลิต” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดไว้ว่าเป็นเดือนห้าเท่านั้น น้ำผึ้งจึงจะ “ขายได้ราคาดี” เป็นพิเศษ จะกล่าวว่าเป็น “ฤดูกาลแห่งน้ำผึ้ง” ก็ว่าได้ แบบที่สมัยปัจจุบันเฝ้ารอ “ฤดูกาลผลไม้ชนิดต่าง ๆ” ที่จะต้องบริโภคในช่วงเวลา จึงจะอร่อยที่สุด


แต่ในกาลต่อมา น้ำผึ้งเดือนห้า ก็ได้กลายไปเป็นสิ่งเปรียบเปรยในวงการเพลงไทย อย่างไม่น่าเชื่อ


หยาดเพชรหยาดละอองผ่องใส


สำหรับการประพันธ์เพลงลูกทุ่งนั้น ในการที่จะ “เปรียบเปรย” บางสิ่งบางอย่างกับ “ความรัก” ครูเพลงมักนิยมเปรียบเปรยกับ “อ้อย” หรือไม่ก็ “น้ำตาล” 


เจนภพ จบกระบวนวรรณ นักวิชาการเพลงไทยลูกทุ่ง ได้ชี้ชัดว่า “อ้อยก็เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของคนไทยมานาน เมื่อคนไทยรู้จักอ้อยดี ก็ย่อมคุ้นเคยกับน้ำตาลด้วยเช่นกัน แต่น้ำตาลยังมาจากพืชอื่นๆ เช่น ต้นตาล, มะพร้าว ฯลฯ ส่วนที่น้ำตาล, อ้อย ฯลฯ มาปรากฏในเพลงลูกทุ่งก็เพราะเพลงลูกทุ่ง เป็นเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิต และสภาพสังคมไทย ครูเพลงท่านก็นำไปอุปมาอุปมัยในเรื่องของความรัก …”


อย่างในเพลง “น้ำตาลก้นแก้ว” ของ ครูสุรพล สมบัติเจริญ ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า


“แม่ น้ำตาลก้นแก้ว เขาชิม เจ้าแล้ว พี่ก็ขอรักมั่น

ถึงจะเหลือเดนเพราะผ่านคนชิม มานานแสนนาน 

พี่ก็ยังต้องการ รอรับรสหวานน้ำตาลก้นแก้ว”


หรือเพลง “มนต์รักแม่กลอง” ของ ครูไพบูลย์ บุตรขัน ขับร้องโดย ศรคีรี ศรีประจวบ ที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า


“ไม่ลืม น้ำใจไมตรี สาวงามบ้านบางคณฑี เอื้ออารีเรียกร้อง

 ให้ดื่มน้ำตาล พร้อมกับยิ้มหวาน ของนวลละออง

ก่อนลาจากสาวแม่กลอง เราร่วมปิดทองงานวัดบ้านแหลม”


แต่ใครเลยจะรู้ ว่าอีกหนึ่งการเปรียบเปรยที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ การเปรียบเปรยความหวานกับ “น้ำผึ้งเดือนห้า” เพราะหากวัดกันด้าน “ความหวาน” แล้ว อ้อยและน้ำตาลจะมีความหวาน “โดด” มากกว่าน้ำผึ้งเดือนห้าที่มีความหวาน “หอม”


ดังนั้น อ้อยและน้ำตาล จึงสามารถที่จะใช้เปรียบเปรยกับความรักแบบ “หวานอมขมกลืน” ได้อีกทางหนึ่ง แบบที่ได้ยกตัวอย่างเพลงน้ำตาลก้นแก้วในข้างต้น


ส่วนเพลงที่เปรียเปรยน้ำผึ้งกับความรักได้อย่าง “กินใจ” ที่สุด จึงหนีไม่พ้นการเปรียบเปรยกับน้ำผึ้งเดือนห้า 


โดยเพลงที่ถือว่า “ติดตลาด” ที่สุดสำหรับเรื่องนี้ นั่นคือเพลง “หยาดเพชร” ของครูชาลี อินทรวิจิตร ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร 


และนี้คือเนื้อเพลงทั้งหมดของหยาดเพชร ดังนี้


“เปรียบเธอเพชรงามน้ำหนึ่ง หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้า หยาดเพชร เกล็ดแก้วแววฟ้า ร่วงมาจากฟ้าหรือไร

หยาดมาแล้วอย่าช้ำโศก ปล่อยคนทั้งโลกร้องไห้ หยาดเพชร เกล็ดแก้วผ่องใส แม้อยู่ไกลเกินผูกพัน

แม้ยามเพชรหยาดจากฟ้า ร่วงลงมา ฟ้าคงไหวหวั่น ดวงดาวก็พลอยเศร้า โศกศัลย์ มิอาจกลั้นน้ำตาอาลัย

เอื้อมมือคว้าหยาดเพชรแก้ว เผลอรักแล้วจึงฝันใฝ่ หยาดเพชรหยาดละอองผ่องใส แม้อยู่ในความมืดมน”


หรือในเพลงร่วมสมัย แบบเพลง “ลูกทุ่งหมอลำ” ก็ยังได้มีเพลง “นางฟ้าหรือยาพิษ” ของครูพีรวิชญ์ พิริย์กร ขับร้องโดย “ไหมไทย หัวใจศิลป์” โดยมีเนื้อเพลงทั้งหมด ดังต่อไปนี้ 


“หน้าเจ้านวลสว่าง ปานดวงอีเกิ้ง รอยยิ้มหวานปานน้ำผึ้ง เดือนห้าหน้าแล้ง

งามจนหมาเหมื่อย ย้อนแหงนมองนางฟ้าจำแลง ผู้บ่าวหน้าตาแห้งแห้ง ได้รับเกียรติสบตาก็ชื่นใจ

เหนื่อยจากงานตรากตรำ จนเหงื่อไหลย้อย เธอยื่นน้ำใสเย็นจ้อย ดื่มดับกระหาย

อ้ายมันคนโง่ กว่าจะรู้สึกตัวก็สาย ล้มกลิ้งทุรนทุราย เพราะพิษภัยยาฆ่าแมลง

สวยอันตราย น่าจะเขียนไว้ที่กลางหน้าผาก เหมือนกับฉลาก เขียนข้างขวดยา ว่าฤทธิ์ร้ายแรง

นางฟ้ายาพิษ เกือบจบชีวิตย้อนฮักเจ้าแฮง เจ็บปานถืกฟ้าผ่าแล้ง กะโหลกสีแดงอ้ายขอมอบให้

หน้าขาวงามผุดผ่อง พอปานนางฟ้า หัวใจดำปานอีกา เลือดเย็นเหลือหลาย

ขอสิได้บ่ นับตั้งแต่นาทีนี้ไป อย่าเฮ็ดให้ไผเกือบตาย  คือกับอ้ายอีกเด้อนางฟ้า”


เมื่อมาถึงตรงนี้ ย่อมจะเห็นได้ว่า แม้แต่ในฤดูแล้ง ที่หลายต่อหลายคนออกจะไม่อภิรมย์ ก็ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่สรรสร้างขึ้นมาอย่างโดดเด่นได้ อย่างในกรณีของน้ำผึ้งเดือนห้า ที่สามารถเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในตนเอง ทั้งที่จะอยู่ในหน้าแล้งก็ตาม


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


https://www.silpa-mag.com/culture/article_69137

https://www.facebook.com/kruadotco 

https://lib1.dss.go.th/bsti/index.php/th/interesting-articles/7109-2023-11-09-09-36-00

ข่าวแนะนำ