เมอร์คแจกสูตร "ยาโมลนูพิราเวียร์" ให้ประเทศยากจนผลิตเอง ลดปัญหาความไม่เท่าเทียม
บริษัทยา “เมอร์ค” ของสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงกับองค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วมที่ UN สนับสนุน ตกลงเปิดเผยสูตรการผลิตยา “โมลนูพิราเวียร์” แก่ 105 ประเทศยากจนส่วนใหญ่ในเอเชียและแอฟริกา เพื่อให้ผลิตยาต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลกนี้ได้เอง ป้องกันปัญหาประเทศยากจนไม่ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม ซ้ำรอยปัญหาการแย่งชิงวัคซีนต้านโควิด-19
วันนี้ (28 ต.ค.64) New York Times รายงานว่า บริษัทยา “เมอร์ค” ของสหรัฐฯ ลงนามข้อตกลงกับ “องค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วม” (Medicine Patent Pool) องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ หรือ UN ตกลงเปิดเผยสูตรการผลิตยาต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลก “โมลนูพิราเวียร์” ให้แก่บริษัทหลายแห่งใน 105 ประเทศรายได้น้อยและปานกลาง
ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นสามารถผลิตยาต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลกนี้ได้เอง และขายยาดังกล่าวในราคาถูกในประเทศเหล่านั้น
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว บริษัทยาหลายแห่งใน 105 ประเทศยากจน จะได้รับใบอนุญาตแบบปลอดค่าสิทธิบัตร และจะได้รับสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวีย และเริ่มการผลิตได้เอง
ด้าน ชาร์ลส กอร์ ผู้อำนวยการองค์กรจัดการสิทธิบัตรยาร่วม ที่บรรลุข้อตกลงกับเมอร์คครั้งนี้ เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดว่า มีบริษัทกว่า 50 แห่งแล้วจากประเทศกำลังพัฒนา ได้ยื่นแสดงความจำนงต่อทางองค์กร เพื่อขอรับสิทธิ์ในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว
หลังจากที่เมอร์คประกาศว่าสามารถคิดค้นยาต้านโควิด-19 ตัวแรกของโลกได้ สร้างความตื่นเต้นดีใจไปทั่วโลก ขณะเดียวกัน ก็เกิดความหวั่นกลัวว่า ประเทศร่ำรวยจะพากันแย่งซื้อยาตัวนี้ไปได้ก่อน แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในการแย่งชิงกันซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จนเหลือวัคซีนไปถึงมือประเทศยากจนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือไปไม่ถึงเลยในบางประเทศ
การที่เมอร์คยอมแบ่งปันสูตรยาโมลนูพิราเวียร์ให้แก่ประเทศยากจนในครั้งนี้ ได้รับความชื่นชมอย่างมาก และเป็นความหวังว่า จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาประเทศยากจน เข้าไม่ถึงการรักษาโควิด ซ้ำรอยกับที่เคยเกิดปัญหาการแย่งชิงวัคซีนต้านโควิดมาแล้ว
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมอร์คได้ประกาศผลการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ในคนเป็นกลุ่มใหญ่ พบว่า ยาตัวนี้สามารถลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลและการเสียชีวิต ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงได้ โดยลดลงได้ถึงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดที่เข้ารับการทดลอง
ทางเมอร์คได้ส่งข้อมูลผลการทดลองดังกล่าว ประกอบการยื่นขอให้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ หรือ FDA เพื่อขออนุมัติการใช้ฉุกเฉินแล้ว และทาง FDA จะตัดสินใจอนุมัติหรือไม่ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
ภาพจาก Reuters