กรมอนามัย เตือน 3 ปัจจัยเสี่ยงพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม หลังคลายล็อก-เปิดประเทศ
กรมอนามัย เผย 3 ปัจจัยหลักเสี่ยงพบติดเชื้อเพิ่ม หากเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการอื่นๆ ย้ำผู้ประกอบเสี่ยงเข้มงวด Covid FreeSetting หลังผู้ประกอบการบางส่วนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด หลังมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา
วันนี้ (20 ต.ค.64) ที่กรมอนามัย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงภาพรวมการบังคับใช้ Covid Free Setting ตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบ สถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า
พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแล้วและปรับสภาพแวดล้อมสถานประกอบการ แต่มีบางส่วนยังรับวัคซีนไม่ครบ และไม่ปฏิบัติตามมาตรการในส่วนอื่น ทำให้ต้องปรับปรุงสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกกิจการในห้างสรรพสินค้าที่มีความเสี่ยง แต่หากกิจการที่มีความเสี่ยงมาก เช่น ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านทำผม โรงภาพยนตร์ ที่เป็นกิจกรรมที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากหรือกิจการที่มีการสัมผัสกันโดยตรง
กลุ่มกิจการเหล่านี้ ผู้ประกอบและพนักงานต้องได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม และต้องปฏิบัติมาตรการตาม Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด บางกิจการถ้าผู้ใช้บริการยังไม่ได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม บางแห่งจะใช้วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด ด้วยชุดตรวจ คัดกรองหาเชื้อโควิดด้วยตัวเองหรือ ATK แบบตรวจด้วยน้ำลายหน้าร้าน หากพบติดเชื้อจะเข้าสู่ระบบการรักษา
ทั้งนี้ อธิบดีกรมอนามัย เน้นย้ำประชาชนแม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองอย่างสูงสุด รวมถึงให้ประชาชนช่วยกันสอดส่อง หากเจอสถานประกอบการไหนไม่ปฏิบัติตามมาตรการ หรือ ฝ่าฝืนข้อบังคับต่างๆ ให้แจ้งไปยังไปผู้รับผิดชอบจังหวัด หรือ แสกนคิวอาร์โค้ดหน้าร้าน โดยจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ
กรณีที่เกิดการระบาดกลุ้มก้อน ไม่ว่าจะขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ อธิบดีกรมอนามัยระบุว่า ไม่ได้เกิดจากกิจการหรือกิจกรรมนั้นโดยตรง แต่เกิดจากพฤติกรรมส่วนบุคคลที่ละหลวมในมาตรการสาธารณสุข เช่น งานศพที่พบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าการติดเชื้อกรณีนี้ไม่เกี่ยวการจัดงานหรือการพิธีทางศาสนา แต่เกิดจากการร่วมกลุ่มเล่นการพนัน และการดื่มแอลกอฮอล์ในงาน
ทั้งนี้ หากเปิดประเทศความเสี่ยงในการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีความเป็นไปได้แต่ก็มีมาตรการรองรับอยู่ สิ่งสำคัญประชาชนต้องปฏิบัติมาตรการอย่างเคร่งครัด ซึ่งปัจจัยที่อาจกลับมาติดเชื้อสูงขึ้นอีก มีด้วยกัน 3 ส่วนหลักๆ คือ
1.ประชาชนไม่ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขที่เข้มงวดมากพอ
2.มีการฝ่าฝืนมาตรการสาธารณสุขในการควบคุมโรค
3.กิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การลักลอบแรงงานผอดกฎหมาย การพนัน และกิจกรรมที่ผิดกฎหมายอื่นๆ
แต่หากมองด้านสาธารณสุขย่อมมีความกังวลอยู่แล้ว เพราะไม่อยากให้ประชาชนเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็นจนทำให้เสียชีวิต
ส่วนการหัตถการที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ทำฟัน อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ถือเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องมีการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งเละละอองฝอยน้ำลายของผู้ใช้บริการ โดยพบว่าในช่วงที่ผ่านมาหัตถการทำฟัน จากเดิมมีผู้ใช้บริการร้อยละ 50 เหลือเพียงร้อยละ 30 ในช่วงโควิด-19 ระบาด
เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นทำให้คลินิกทันตกรรมกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุข หากเป็นในพื้นที่สีแดงเข้มผู้เข้ารับบริการจะต้องคัดกรองความเสี่ยงเบื้องต้น หากเป็นไปได้อยากให้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม รวมถึงตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK ที่ตอนนี้ราคาถูกลงชุดละ 30-40 บาท
ส่วนคลินิกทันตกรรมได้ขอความร่วมมือให้ยกระดับความปลอดคสำหรับองค์กรหรือ Covid free setting โดยภายในร้านขอให้เน้นปรับสภาพแวดล้อมและระบบระบายอากาศฆ่าเชื้อ เนื่องจากคนไข้ต้องอ้าปากและใช้อุปกรณ์ทำฟันที่อาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของละอองฝอยที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด
ทั้งนี้ คลินิกทันตกรรม ที่ประกอบด้วยทันตแพทย์และผู้ช่วยได้รับวัคซีนครบหมดทุกคน และได้เน้นคลินิกทันตกรรมลดระยะเวลาการทำฟันให้น้อยลง จากผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพด้านการเข้ารับบริการทันตกรรมผ่านแอพพลิเคชั่น H4U ปี 2563 กลุ่มวัยทำงานเข้ารับบริการร้อยละ 52.2 ส่วนวัยผู้สูงอายุเข้ารับบริการร้อยละ 42.4 แต่ในปี 2564 กลุ่มวัยทำงานเข้ารับบริการลดลงเหลือร้อยละ 33.7 และวัยผู้สูงอายุเข้ารับบริการลดลงเหลือร้อยละ 36.5
ภาพจาก TNN ONLINE