สธ.เตรียมเสนอ ศบค.ในวันพรุ่งนี้ เคาะเปิดให้นั่งกินในร้านอาหารได้ 50%
สธ.เตรียมเสนอ ศบค.ในวันพรุ่งนี้ ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับเปิดกิจการ/จัดกิจกรรมบางประเภทได้ เช่น เปิดให้นั่งกินร้านอาหารได้ ร้อยละ 50 ถึง 2 ทุ่ม เปิดสายการบิน กีฬากลางแจ้ง กิจกรรมบางอย่างในห้างสรรพสินค้า แต่มีเงื่อนไขผู้รับบริการ-ผู้ให้บริการต้องปลอดเชื้อ
วันนี้ (26 ส.ค.64) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวออนไลน์ ถึง การยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค โควิด-19 สำหรับเปิดกิจการ/จัดกิจกรรมให้ปลอดภัย หากมีการผ่อนคลาย
โดยเงื่อนไขผู้รับบริการ และผู้ให้บริการต้องปลอดเชื้อ เบื้องต้นต้องแสดงหลักฐานว่าฉีดวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม หรือ ใบรับรองซึ่งในส่วนนี้มีข้อมูลในหมอพร้อมอยู่แล้ว หรือมีการตรวจเชื้อด้วยชุดตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง หรือ Antigen Test Kit เพื่อยันยันก่อนใช้บริการ แต่หากใครยังไม่ฉีดวัคซีนก็ให้เลือกใช้บริการสั่งกลับบ้าน รวมทั้งผู้ที่ติดเชื้อหายแล้วไม่เกิน 3 เดือน ต้องมีใบรับรองแพทย์
ส่วนมาตรการองค์กร ผู้ประกอบการทั้งหลาย เน้นจัดระบบป้องกันการติดเชื้อ ขอให้พื้นที่บริการทั้งหมดต้องปลอดโควิด ช่วยกันคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปในห้างสรรพสินค้าเข้าไปในสถานประกอบการแต่ละแห่ง สถานประกอบการต้องจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดเชื้อ มีระบบระบายอากาศที่ดี โดยเฉพาะสถานประกอบการระบบปิด
รวมทั้ง จัดจุดตรวจคัดกรองด้วยตัวเองหรือ Antigen Test Kit เป็นระยะ แต่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย จะต้องหารือกันอีกครั้ง เบื้องต้นมีการพูดคุยกันว่า ร้านอาหารจะรวมตัวกันนำเข้าจัดหาจัดซื้อชุดตรวจเองผ่านอย.จัดสภาพแวดล้อม โดยมาตราการทั้งหมดยังเป็นมาตรการแนะนำ ไม่ได้บังคับ รอ ศบค.เคาะอีกครั้งแต่ก็จะประกาศล่วงหน้าให้เตรียมตัว
โดยทั้งหมดนี้เป็นมาตรการสำหรับสถานประกอบการในระบบปิด ส่วนระบบเปิดน่าจะผ่อนปรนได้มากกว่านี้ซึ่งมาตรการยังต้องเสนอ ศบค.พิจารณา ก่อนในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ แต่มีแนวโน้มว่าเป็นไปได้ที่จะให้ร้านอาหารสามารถนั่งรับประทานในร้านได้ประมาณร้อยละ 50
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึง ความคืบหน้าลงนามจัดซื้อชุดตรวจคัดกรองด้วยตัวเองหรือ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุดขององค์การเภสัชกรรม นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขได้รับข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีให้องค์การเภสัชกรรม เร่งดำเนินการจัดซื้อตามขั้นตอน โดยจะพยายามอย่างเต็มที่ แต่ต้องเข้าใจว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดหาชุดตรวจดังกล่าว ซึ่งผู้จัดซื้อคือ สปสช.แต่ สปสช.ไม่มีอำนาจในการจัดซื้อ จึงต้องทำผ่านโรงพยาบาลราชวิถี และให้องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อนำเข้าให้ โดยความคืบหน้าต้องรอทางองค์การเภสัชกรรมออกมาชี้แจงอีกครั้ง
ส่วนการจัดหาวัคซีน ใน 4 เดือนต่อจากนี้ คือ กันยายนถึงธันวาคม นพ.เกียรติภูมิ คาดว่า จะมีวัคซีนเข้ามาเยอะไม่น้อยกว่า 100 ล้านโดสตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะทำการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จะทำให้มีระดับภูมิคุ้มกันอย่างที่ต้องการ ขณะนี้การฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุพื้นที่กรุงเทพฯ ครอบคลุมไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ต่อจากนี้ คือ การเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ต่างจังหวัด
ส่วนการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อ และมาตรการล็อคดาวน์ 4 สัปดาห์ คงต้องรอดูอีกสักระยะก่อนถึงจะประเมินสถานการณ์ได้ แต่เบื้องต้นถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับที่สูงอยู่
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการล็อกดาวน์ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ถึง 25 ทำให้การติดเชื้อไม่เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงและตอนนี้แนวโน้มเริ่มลดลงเล็กน้อยส่วนการเสียชีวิตจาก ในแต่ละวันยังไม่ถือว่าค่อนข้างสูง
ดังนั้น มาตรการสำคัญต้องเร่งให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันในกลุ่มเสี่ยงให้ได้คลอบคลุมโดยเร็ว และการป้องกันโดยมาตรการส่วนบุคคลที่ ทุกคนต้องปฏิบัติ Universal Prevention เช่น การออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น
หากเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร ในทุกสถานที่สวมหน้ากากอนามัยและ ด้วยหน้ากากผ้าตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในและนอกบ้านที่มีคนมากกว่า 2 คน หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่รวมทั้งใบหน้าตาจมูกปากโดยไม่จำเป็น ล้างมือบ่อยบ่อยด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงเช่น สัมผัสผู้อาจติดเชื้อหรือมีอาการควรได้รับการตรวจด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit บ่อยๆ เพื่อยืนยันว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ หรือไปรับการตรวจรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน.