รู้จักวัคซีนโควิดจากดีเอ็นเอ "ไซคอฟ-ดี" ZyCoV-D แบบฉีดใต้ผิวหนังสู้เดลต้าได้
อินเดีย ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 "ไซคอฟ-ดี" (ZyCoV-D) และอนุมัติใช้ฉุกเฉิน ตั้งแต่ผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป พบประสิทธิภาพต้านไวรัสกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าถึงร้อยละ 66.6
วันนี้ (23 ส.ค.64) กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขึ้นทะเบียนฉุกเฉินให้กับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชื่อ "ไซคอฟ-ดี" (ZyCoV-D) ถือเป็นวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโคโรนาที่พัฒนาโดยใช้พลาสมิดดีเอ็นเอ (Plasmid DNA) ตัวแรกของโลก ผลิตโดย“ไซดัสคาดิลา” บริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของอินเดีย
วัคซีนไซคอฟ-ดี เป็นวัคซีน "ไร้เข็ม" ตัวแรกของโลก โดยนำเข้าสู่ร่างกายผ่านเครื่องมือเฉพาะ เพื่อส่งวัคซีนให้ซึมเข้าทางผิวหนังด้วยความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลให้กับผู้ที่มีความกลัวต่อเข็มฉีดยา ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวเคยใช้ทดสอบในวัคซีนโรคซิก้า (Zika)มาแล้ว
ข้อบ่งใช้ ต้องฉีด 3 โดส ห่างกันประมาณ 28 วัน ซึ่งผลการทดลองเฟสสามในอาสาสมัครจำนวน 28,000 คน และในจำนวนนี้มีเด็กอายุ 12-18 ปี อยู่ 1,000 คน พบว่า ปลอดภัย มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อได้ 66.6% โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า
สำหรับหลักการทำงานวัคซีนดีเอ็นเอ คือ การใช้สารพันธุกรรมอย่างจำเพาะเจาะจงจากเชื้อไวรัสโคโรนาไปกระตุ้นให้ดีเอ็นเอ หรืออาร์เอ็นเอในร่างกายมนุษย์สังเคราะห์รหัสคำสั่งให้ร่างกายผลิตโปรตีนส่วนที่เป็นปุ่มหนามของเชื้อไวรัส และโปรตีนส่วนนี้จะเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ร่างกายรู้จักเชื้อโรค และสร้างภูมิคุ้มกันใหักับตัวเองจากโรคโควิด-19
ขณะที่ จุดเด่นวัคซีนไซคอฟ-ดี ได้แก่
1.สามารถฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
2.ไม่ต้องใช้เข็มฉีดยา แต่ใช้เทคโนโลยีความเร็วสูงผลักวัคซีนขนาดเล็กเข้าสู่ผิวหนังโดยตรง
3.สามารถเก็บได้ที่อุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียสได้เป็นปี และเก็บที่อุณหภูมิห้อง 25 องศาเซลเซียสได้นานถึงสามเดือน
นายมันสุข มัณฑวิยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของอินเดีย กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ว่า บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 12 ปี สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนไซคอฟ-ดี ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางการกลับมาจัดการเรียนการสอนแบบปกติในโรงเรียน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มการผลิตวัคซีนอย่างเป็นทางการแล้ว เบื้องต้นผู้ผลิตคาดว่า น่าจะออกสู่ตลาดได้ ภายในเดือน ก.ย.นี้
สำหรับการฉีดวัคซีนใต้ผิวหนัง ถือได้ว่ากำลังมาแรง เนื่องจากเป็นการฉีดวัคซีนโดยใช้ปริมาณวัคซีนที่น้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามแบบที่ใช้ปกติ ข้อมูลเริ่มมีออกมาว่าวัคซีนสามารถใช้ลดลงเหลือเพียง 1:10 จากปริมาณปกติ ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ใกล้เคียงหรืออาจจะสูงกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งการส่งวัคซีนไปชั้นใต้ผิวหนังที่ชื่อว่า Dermis จะมี Macrophage หรือ เซลล์เม็ดเลือดขาวจำนวนมาก
รวมถึงมีเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยกระตุ้นภูมิไปบอกให้ B cell หรือ T cell ที่ต่อมน้ำเหลือง ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี หรือ กระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้พร้อมสู้กับไวรัส ซึ่งชั้น Dermis นี้มีปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวมากกว่าชั้นกล้ามเนื้อ ทำให้ปริมาณวัคซีนจึงไม่จำเป็นต้องใช้มาก แต่ข้อจำกัดของการฉีดทางผิวหนัง หากใช้เข็มปกติต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์ หรือ อาจต้องมีเครื่องมือฉีดที่ออกแบบมาโดยตรง
ทั้งนี้ มีการศึกษาในอาสาสมัครจำนวนแค่ 30 กว่าคน โดยทีมนักวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ ทดสอบการฉีด Moderna vaccine เปลี่ยนจากการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่เปลี่ยนเป็นฉีดเข้าชั้นผิวหนัง จำนวน 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์เหมือนเดิม
จากนั้นทำการวัดระดับแอนติบอดี เมื่อฉีดครบแล้ว 2 สัปดาห์ พบว่าระดับ anti-spike และ anti-RBD สูงเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ผลข้างเคียงแทบไม่ต่างจากการฉีดเข้ากล้าม ซึ่งข้อดีของการฉีดวัคซีนแบบนี้คือใช้วัคซีนน้อยกว่ามาก เหมาะแก่การแก้ปัญหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงไม่พอได้เลย เช่น ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส แทนที่จะฉีดได้แค่ 10 ล้านคนจะกลายเป็น 50-100 ล้านคน