ภูเก็ต ขยายเวลามาตรการคัดกรองเข้า-ออก สั่งปิดสถานที่ต่อถึง 17-31 ส.ค.นี้
ผู้ว่าฯ ภูเก็ต ลงนามคำสั่งขยายระยะเวลามาตรการคัดกรองเข้าออกภูเก็ต 17-31 ส.ค.นี้ และยังมีคำสั่งปิดผับ บาร์ สถานศึกษาฯ ต่อ หลังสายพันธุ์เดลต้าระบาดหนัก
นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตครั้งที่ 48 /2564 โดยมีคณะกรรมการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม วานนี้ (14 ส.ค.64) เพื่อพิจารณาและขอมติจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตหลายเรื่อง จากนั้น จึงมีคำสั่งจังหวัดภูเก็ต ที่ 4627/2564 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2564 มาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผลตั้งแต่วันที่ 17 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2564
โดยสาระสำคัญของมาตรการตรวจคัดกรองการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ต ตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีดังนี้
1. ห้ามบุคคลและผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท ยกเว้น เด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครองหรือผู้ดูแล เข้าจังหวัดภูเก็ต ทั้งทางบก (ด่านตรวจท่าฉัตรไชย) ทางน้ำ (ท่าเรือ ทุกท่า) ในจังหวัดภูเก็ต และช่องทางภายในประเทศ (ท่าอากาศยานภูเก็ต) เว้นแต่ เป็นบุคคล หรือผู้ขับขี่ยานพาหนะ ดังต่อไปนี้
1) รถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย
2) ขนส่งยา วัสดุอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์
3) ขนส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค สินค้าทางการเกษตร ปศุสัตว์ อาหารสัตว์ หรือการขนส่งที่จำเป็นอื่นๆ ต่อการดำรงชีพ
4) ขนส่งแก๊สหุงต้ม น้ำมันเชื้อเพลิง
5) ขนส่งเงินของธนาคาร สถาบันทางการเงิน
6) ขนส่งพัสดุและสิ่งพิมพ์
7) ขนส่งวัสดุก่อสร้าง เครื่องจักร และอะไหล่ที่ใช้ในการซ่อมบำรุง
8 ) ผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ เพื่อนำเข้า - ส่งออกสินค้า ณ ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต , ท่าเรือคลังน้ำมัน ปตท.ภูเก็ต และพื้นที่ขนถ่ายสินค้าอื่น ๆ
9) ขนส่งเครื่องมืออุปกรณ์ วัสดุ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนประกอบซ่อมบำรุงพื้นฐานด้านโทรคมนาคม พลังงาน ยานยนต์ อากาศยาน และการอุตสาหกรรมอื่นๆ
10) ผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านหรือปฏิบัติงานในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นการประจำ (มีเอกสารยืนยัน)
11) ผู้เดินทางมาตามโครงการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และผู้ขับขี่ยานพาหนะ (มีเอกสารยืนยัน)
12) ผู้ที่ได้รับคำสั่งหรือมีหนังสือมอบหมายจากต้นสังกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ในด้านการป้องกันและควบคุมโรคในจังหวัดภูเก็ต
13) ผู้ที่ได้รับคำสั่งจากส่วนราชการให้ไปหรือมาปฏิบัติภารกิจจำเป็นเร่งด่วนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
14) ผู้มีความจำเป็นในการเดินทางออกทางช่องทางระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต (ต้องมีตั๋วโดยสาร ของวันที่เดินทาง เท่านั้น)
15) ผู้ที่มีนัดหมายตามกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล พนักงานอัยการ หรือพนักงานสอบสวน ซึ่งต้องมีเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนว่าหากเลื่อนเวลานัดหมายดังกล่าวจะทำให้กระบวนการพิจารณาเสียหายอย่างร้ายแรงหรือมีนัดหมายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายแก่คู่กรณีหรือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง
16) กรณี ผู้มีเหตุจำเป็นอื่นๆ ที่ไม่สามารถเลื่อนกำหนดนัดหมายได้ หรือกรณีอื่นใดซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติที่ต้องวินิจฉัยสั่งการ ให้ผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำด่านตรวจเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเป็นรายกรณี
โดยผู้ได้รับการยกเว้นตามกรณีดังกล่าวข้างต้น ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดซิโนแวค (Sinovac) , ซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ครบ 2 เข็ม หรือซิโนแวค (Sinovac) เข็ม 1 แอสตราเซนเนก้า (AstraZeneca) เข็ม 2 หรือได้รับวัคซีนชนิดแอสตราเซนเนก้า (AstraZeneca) , ไฟเซอร์ (Pfizer) , โมเดอร์นา (Moderna) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson and Johnson) จำนวน 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน หรือเป็นผู้ที่หายจากอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19 มาแล้วไม่เกิน 90 วัน และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง
2. เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปี จนถึงผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์การได้รับวัคซีน ต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง
3. กรณี นักเรียนนักศึกษาอายุไม่ถึง 18 ปี ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ได้และมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ตเพื่อการเรียนการศึกษา ให้หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษาหรือศึกษาธิการจังหวัดออกบัตรประจำตัวเป็นรูปแบบเดียวกัน แสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อเดินทางผ่านเข้า-ออกจังหวัดภูเก็ต และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตทำการตรวจหาเชื้อโควิด- 19 ด้วยวิธีการ RT-PCR และออกใบรับรองการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้มีผลใช้ได้ครั้งละไม่เกิน 1 เดือน
4. กรณี ผู้มีนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 (ต้องมีใบนัดหมายการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ที่จังหวัดภูเก็ต) และต้องได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการ RT-PCR หรือวิธีการ Antigen Test มาจากนอกพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทางถึง
5. ต้องลงทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.gophuget.com เพื่อแจ้งข้อมูลในการเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตล่วงหน้า และแสดงคิวอาร์โค้ด (QR Code) ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าจังหวัดภูเก็ต
6. การใช้เส้นทางคมนาคมและการตรวจคัดกรองการเดินทาง ผ่านทางด่านตรวจท่าฉัตรไชย ห้ามบุคคลและยานพาหนะทุกประเภทเข้าจังหวัดภูเก็ต ระหว่างเวลา 23.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ยกเว้น เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งที่ 4626/2564 ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2564 เรื่อง มาตรการปิดสถานที่หรือห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. มาตรการปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค
- สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ทุกแห่งในท้องที่จังหวัดภูเก็ต สนามชนไก่ สนามกัดปลา สนามแข่งนก สนามแข่งไก่ สนามมวย หรือสถานที่จัดให้มีการเล่นการพนัน รวมถึง สนามฝึกซ้อมหรือกิจกรรมอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกัน
- สถานที่จัดให้มีโต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด หรือโต๊ะพูล ร้านเกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์ โรงเรียนสอนมวย และโรงเรียนศิลปะการต่อสู้ทุกประเภท (วูชู คาราเต้ เทควันโด มวยไทย มวยสากล ยูโด ไอกิโด เป็นต้น)
- สระว่ายน้ำที่เปิดให้บริการประชาชนเป็นการทั่วไปทั้งในส่วนของราชการ และผู้ประกอบการเอกชน
- สถานศึกษาในระบบทุกแห่งทุกสังกัดในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มหาวิทยาลัย และสถาบันกวดวิชา ทุกแห่ง งดการจัดการเรียนการสอนและงดการจัดกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องมีการรวมกลุ่มของนักเรียนนักศึกษา ยกเว้น โรงเรียนเอกชนนอกระบบที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนไม่เกิน 5 คน โดยให้สถานศึกษา มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาจัดการเรียนการสอนด้วยการไม่ต้องเข้าชั้นเรียนตามรูปแบบที่ตันสังกัดกำหนดหรือรูปแบบที่เหมาะสมตามที่กำหนด โดยปรับการเรียนการสอนเป็นระบบออนไลน์
2. การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลซึ่งมีจำนวนรวมกันมากกว่า 50 คนแต่ เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กำหนดให้ ห้ามรวมกลุ่มทำกิจกรรม สังสรรค์ ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่สาธารณะ ชายหาด สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ถนนริมคลอง ถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ขุมน้ำสาธารณะ
3. มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ สถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ ยกเว้น ส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม สวนสนุก ให้งดบริการ
- ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ตามปกติโดยงดการจำหน่าย และงดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายในร้าน ตลาดสด ตลาดนัด ถนนคนเดิน ให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามที่ทางราชการกำหนด และจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการตามขนาดของพื้นที่ 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร
- ร้านสะดวกซื้อ ให้เปิดดำเนินการได้ตามปกติตั้งแต่เวลา 04.00 น. ถึงเวลา 23.00 น.
- สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายกลางแจ้ง สวนสาธารณะ ลาน พื้นที่กิจกรรมสาธารณะโล่งแจ้งและกีฬาในร่ม สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. แต่ห้ามเล่นกีฬาที่มีการปะทะกันและต้องไม่มีผู้ชมหรือชุมนุมกัน
- สถานที่หรือสนามออกกำลังกายในร่ม โรงยิม ฟิตเนส โยคะ แอโรบิก คลาสออกกำลังกายแบดมินตัน สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้ใช้บริการตามขนาดของพื้นที่และผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการ ต้องเป็นผู้ที่ได้รับวัคชีนครบโดส และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนด รวมถึงมาตรการ D-M-H-T-T-A
4. การจัดกิจกรรมทางสังคม ให้งดการจัดงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง งานวันเกิด งานขึ้นบ้านใหม่ เลี้ยงรับ - ส่ง และเลี้ยงฉลองแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ กรณีการจัดพิธีการตามประเพณีนิยมหากไม่สามารถเลื่อนได้ เช่น งานพิธีการศพ งานอุปสมบท งานมงคลสมรส วันสำคัญทางศาสนาหรืองานบุญ ให้สามารถดำเนินการภายใต้มาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ
5. มาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาขยายการดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง เพื่อลดจำนวนการเดินทางของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นระยะเวลาตามความจำเป็นเหมาะสม เพื่อป้องกันและลดโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ การปฏิบัติงานดังกล่าวให้เพียงพอต่อภารกิจให้บริการประชาชน
ห้ามมิให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารและพนักงานส่วนท้องถิ่นพนักงานราชการ ลูกจ้างส่วนราชการ เดินทางออกนอกเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ยกเว้น มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน และต้องได้รับอนุญาตตามแบบที่กำหนดแนบท้ายคำสั่งนี้
6. การถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ การถ่ายทำรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งเมื่อรวมคนทำงานหน้าฉากและทุกแผนกแล้ว ต้องมีจำนวนไม่เกิน 50 คน และต้องไม่มีผู้ชมเข้าร่วมรายการ การยกเว้นไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าในบางกรณีหรือบางช่วงเวลาของการถ่ายทำต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติสำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ตามที่ได้รับอนุมัติจาก ศบค.
7. มาตรการตรวจสอบเข้มงวดกับสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคแบบกลุ่มก้อน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้มงวดในการตรวจสอบสถานที่หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เช่น โรงงาน สถานที่พักของแรงงานต่างด้าว หรือสถานที่อื่น ๆ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด
หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับแห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2564
ข้อมูลจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต