วัคซีน "โควาซีน" ของอินเดีย มีประสิทธิภาพต้านโควิด 77.8%
สื่ออินเดีย เผย โควาซิน (Covaxin) วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทภารัต ไบโอเทค มีประสิทธิภาพป้องกันโรค ร้อยละ 77.8
วันนี้ (23 มิ.ย.64) สื่ออินเดีย รายงานว่า โควาซิน (Covaxin) วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทภารัต ไบโอเทค มีประสิทธิภาพป้องกันโรค ร้อยละ 77.8 ในการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่ง มีอาสาสมัครจากทั่วประเทศเข้าร่วม จำนวน 25,800 คน ขณะที่ บริษัท ภารัต ไบโอเทค กำหนดประชุมในวันนี้ ก่อนยื่นเอกสารต่อองค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ อินเดียเริ่มฉีดวัคซีนโควิดตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม โดยใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศ 2 ตัว ได้แก่ โควิชีลด์ (Covishield) ซึ่งเป็นวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยสถาบันเซรุ่มอินเดีย และวัคซีนโควาซิน (Covaxin) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทภารัต ไบโอเทค และสภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย
ปัจจุบันอินเดียมีผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 30 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 390,000 คน แม้ผู้ป่วยรายวันลดลงลง แต่อินเดียระบุว่า พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์เดลต้าพลัส ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลต้าที่กลายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยพบมากในรัฐมหาราษฏระ เกรละ และมัธยประเทศแล้ว 40 คน
ด้าน มาเรีย แวน เคิร์คโฮฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านไวรัสโควิด-19 แห่งองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า โควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ “เดลต้า”หรือสายพันธุ์อินเดีย ระบาดไปแล้ว 92 ประเทศทั่วโลก และกำลังระบาดหนักเป็นสายพันธุ์หลักในอังกฤษและกำลังจะเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐฯ ต่อไป ขณะที่ยังไม่มีวัคซีนที่สามารถปกป้องชีวิตคนจากเดลต้าได้
ขณะที่ ดร.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์เดลต้า เป็นโควิดกลายพันธุ์ที่มีความสามารถในการระบาดได้รวดเร็วที่สุด มีความแข็งแกร่งที่สุด และสามารถทำให้ผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอและยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมีความเสี่ยงต่ออาการทรุดหนักเมื่อติดโควิดและเสียชีวิตได้