ผลวิจัยพบ "รากกัญชา" ช่วยฟื้นฟูเนื้อปอดที่เสียหายจากโรคโควิด-19
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิจัยพบ “รากกัญชา” สายพันธุ์ไทย ช่วยฟื้นฟูเนื้อปอดเสียหายจากโควิด เนื่องจากมีคุณสมบัติ ต้านการอักเสบของอวัยวะได้ระดับหนึ่ง แต่ยังอยู่ในระดับห้องทดลอง เล็งศึกษาในสัตว์และคนต่อไป
วันนี้ (22 มิ.ย.64) สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ศึกษากัญชาพันธุ์ไทยครอบคลุมทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ด้านเคมีและข้อมูลสายพันธุกรรม พบว่า มีสารสำคัญ THC และ CBD ปริมาณสูง รวมถึงรากของกัญชา ซึ่งมีสรรพคุณในการช่วยรักษาเนื้อเยื่อของปอด ซึ่งตรงกับข้อมูลขณะนี้ ที่พบว่าผู้ที่ป่วยโควิด-19 แม้จะหายแล้ว แต่เนื้อเยื่อปอดจะถูกทำลายไป
จึงได้ทำการทดลองวิจัยนำต้นกัญชาสายพันธุ์ไทยที่ได้ปลูกในสถาบัน ไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อรากกัญชา จนได้สารสกัดจากรากกัญชา นำไปทดสอบกับเซลล์ปอด พบว่า ปอดที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อใช้รากกัญชาไปทดสอบ เซลล์ปอดสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับการทดลองในหลอดทดลอง และจะต้องนำไปศึกษาวิจัยทดสอบในสัตว์ และมนุษย์จริงๆ ต่อไปเพื่อดูว่าช่วยฟื้นฟูปอดได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่า กัญชาช่วยลดอาการปอดอักเสบรุนแรงที่เรียกว่า “cytokine storm” ซึ่งทำให้เกิดอาการหายใจลำบากเฉียบพลันอย่างรุนแรงเนื่องจากโควิด-19 เนื่องจากพืชกัญชา มีสารสำคัญอย่างสารแคนาบินอยด์ Cannabinol มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ซึ่งภูมิคุ้มกันนั้น จะช่วยต้านทานโรคได้ และช่วยลดการอักเสบ และมีสารเทอร์ปีน (Terpenes) สารสำคัญ อีกชนิดที่ช่วยรักษาอาการอักเสบรุนแรง ต้นตอให้เกิดปอดเสียหาย หลายประเทศจึงศึกษานำกัญชามารักษาอาการโควิด-19
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กัญชาพันธุ์ไทยมีลักษณะเด่นถึง 3 แบบ คือ
แบบที่ 1 กัญชาให้สาร THC สูง ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกสกลทีที 1 และพันธุ์ตะนาวศรีก้านขาวดับเบิ้ลยูเอ 1
แบบที่ 2 ให้สาร THC และ CBD สัดส่วน 1:1 ได้แก่ พันธุ์หางกระรอกภูพานเอสที 1
แบบที่ 3 ให้สาร CBD สูง ได้แก่ พันธุ์ตะนาวศรีก้านแดงอาร์ดี 1
อย่างไรก็ดี ทางกรมฯ จะนำมาวิจัยต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ขอให้ประชาชนอย่านำรากกัญชามาใช้เอง เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ให้รอผลวิจัยอย่างเป็นทางการที่แน่ชัดก่อน