เปิดข้อมูล ทำไมหลายคนติดเชื้อโควิดมีอาการเบื่ออาหาร-ทานอะไรไม่ลง
เปิดข้อมูล ทำไมหลายคนติดเชื้อโควิดมีอาการเบื่ออาหาร-ทานอะไรไม่ลง พบเป็นสภาวะตอบสนองต่อการติดเชื้อตามธรรมชาติซึ่งอาจเป็นผลดีต่อร่างกาย
เปิดข้อมูล ทำไมหลายคนติดเชื้อโควิดมีอาการเบื่ออาหาร-ทานอะไรไม่ลง พบเป็นสภาวะตอบสนองต่อการติดเชื้อตามธรรมชาติซึ่งอาจเป็นผลดีต่อร่างกาย
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์ และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุว่า เวลาติดโควิดแล้ว หลายคนมีอาการเบื่ออาหารทานอะไรไม่ลง
จริงๆแล้วสภาวะนี้เป็นการตอบสนองต่อการติดเชื้อตามธรรมชาติซึ่งอาจเป็นผลดีต่อร่างกาย การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาจากทีมวิจัยในเยอรมนีพบว่า ช่วงที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อด้วยอาการเบื่ออาหาร เป็นการเปลี่ยนระบบการใช้พลังงานของร่างกายจากการใช้น้ำตาล เพื่อสร้างพลังงาน เป็นการใช้แหล่งพลังงานสำรองที่ตับแทน
โดยพลังงานสำรองดังกล่าวคือ ketone body β-hydroxybutyrate (BHB) ที่ร่างกายเปลี่ยนจากกรดไขมันในตับนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน ในสภาวะอดอาหาร หรือ แหล่งอาหารไม่มีคาร์โบไฮเดรต เช่น อาหารกลุ่มคีโตไดเอท ที่บางท่านอาจนิยมรับประทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก
ทีมวิจัยพบว่า ผู้มีอาการโควิดรุนแรงจะมีการสร้าง BHB ในร่างกายที่น้อยกว่าปกติ แหล่งพลังงานของผู้ป่วยเหล่านั้นจะพึ่งน้ำตาล หรือ คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก แต่สภาวะการติดเชื้อโควิด ทำให้ระบบการเผาผลาญน้ำตาลไม่เป็นปกติในผู้ป่วยเหล่านี้ โดยเฉพาะในเม็ดเลือดขาว T cell ที่ควรได้สารอาหารชนิดกรดอะมิโนสำคัญจากแหล่งพลังงานดังกล่าวไปสร้างโปรตีนเพื่อจัดการกับเชื้อ หรือ เพิ่มจำนวนของตัวเองให้พร้อมในสภาวะติดเชื้อ ทีมวิจัยพบว่า ผู้ป่วยโควิดมี T cell ที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่ออาการโควิดที่รุนแรง พูดง่ายๆคือ T cell เสียสมดุลการทำงานจากการใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงาน
ทีมวิจัยพบว่าแทนที่จะใช้น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงาน ร่างกายจะใช้ BHB แทน ซึ่งกลไกการเผาผลาญ BHB สามารถทำให้มีการสร้างกรดอะมิโนได้เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ T cell ได้อย่างดี สามารถเคลียร์ไวรัสจากร่างกายได้ไวขึ้น ทีมวิจัยพบว่า การให้อาหารชนิดคีโตกับหนูทดลองยังที่ติดเชื้อ สามาถช่วยให้หนูต้านการติดเชื้อได้ดีกว่ากลุ่มทดลอง ทำให้คิดว่า BHB อาจมีคุณสมบัติต่อต้านไวรัสได้
ทีมวิจัยสรุปว่า BHB อาจจะเป็นหนึ่งเป้าหมายสำคัญที่อาจพิจารณานำมาใช้ช่วยรักษาผู้ป่วยโควิด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการรุนแรง
สำหรับผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารไม่อยากทานอะไร ก็อาจจะเป็นกลไกที่ร่างกายอยากใช้ประโยชน์ จาก BHB ที่สะสมไว้ครับ หรือ ถ้าจะทานอาหาร low carb ช่วงพักฟื้นอาจช่วยให้หายไวขึ้นครับ
https://www.nature.com/articles/s41586-022-05128-8
https://www.nature.com/articles/s42255-022-00646-1
ข้อมูลจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา
ภาพจาก TNN ONLINE