"ญี่ปุ่น-สหภาพยุโรป" ขึ้นทะเบียน LAAB ผลวิจัยพบลดอาการรุนแรงผู้ติดโควิด-19
สธ.เผยผลวิจัยการใช้ LAAB ยี่ห้อ Evusheld ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและรักษาแบบผู้ป่วยนอก พบว่าการให้เร็วใน 3 วัน ช่วยลดการเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตถึง 88% ส่วนการรักษากลุ่มผู้ป่วยในที่มีอาการไม่เกิน 12 วัน ช่วยลดอัตราเสียชีวิต 30% "ญี่ปุ่น" และ “สหภาพยุโรป” ได้ขึ้นทะเบียนใช้ในการรักษาแล้ววันนี้ เผยอยู่ระหว่างยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนรักษาในไทยเพิ่มจากการป้องกันก่อนติดเชื้อ
สธ.เผยผลวิจัยการใช้ LAAB ยี่ห้อ Evusheld ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและรักษาแบบผู้ป่วยนอก พบว่าการให้เร็วใน 3 วัน ช่วยลดการเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตถึง 88% ส่วนการรักษากลุ่มผู้ป่วยในที่มีอาการไม่เกิน 12 วัน ช่วยลดอัตราเสียชีวิต 30%
ด้าน "ญี่ปุ่น" และ “สหภาพยุโรป” ได้ขึ้นทะเบียนใช้ในการรักษาแล้ววันนี้ เผยอยู่ระหว่างยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนรักษาในไทยเพิ่มจากการป้องกันก่อนติดเชื้อ
วันนี้ (21 ก.ย.65) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long Acting Antibody : LAAB) ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหา LAAB ยี่ห้อ Evusheld ให้กลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำและร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน
เพื่อปกป้องกลุ่มเปราะบางก่อนการสัมผัสเชื้อ (pre-exposure prophylaxis) โดยขณะนี้ฉีดไปแล้วกว่า 3,400 ราย โดย LAAB สามารถออกฤทธิ์ลบล้างเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์กลายพันธุ์หลายตัว
กลุ่มเป้าหมายระยะแรก ได้แก่ ผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังที่ต้องได้รับการบำบัดทดแทนไต (ฟอกไต), ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ และผู้ป่วยปลูกถ่ายไขกระดูก โดยกำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย LAAB
เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดและฉายแสง, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ
สำหรับการนำมาใช้หลังรับเชื้อโควิด 19 ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยโครงการ TACKLE Phase 3 ที่ตีพิมพ์ใน The Lancet Respiratory Medicine ออกมาแสดงผลการศึกษา LAAB ยี่ห้อ Evusheld ขนาด 600 มิลลิกรัม ฉีดในผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก
และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต จำนวน 910 ราย ในสถานพยาบาล 95 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น พบว่า การให้ภายใน 7 วันหลังมีอาการ
สามารถลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 50 เมื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาหลอก และหากให้ยาเร็วขึ้นอีกภายใน 5 วันและ 3 วันหลังมีอาการ จะลดการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิตได้ร้อยละ 67 และร้อยละ 88 ตามลำดับ
และจากการศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCT) พบว่า การให้ Evusheld ขนาด 600 มิลลิกรัมในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและมีอาการมาไม่เกิน 12 วัน จำนวน 1,417 ราย จากสถานพยาบาล 81 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา
ยุโรป อูกันดา และสิงคโปร์ พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยา Evusheld มีอัตราการเสียชีวิตลดลง ร้อยละ 30 ซึ่งแสดงถึงผลดีของภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปยี่ห้อ Evusheld ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขแรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น อนุมัติให้ใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปยี่ห้อ Evusheld เพื่อการรักษาผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไปในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงจากการติดโควิด 19 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2565
นอกจากนี้ วันที่ 20 กันยายน 2565 European Medicines Agency’s (EMA) ของยุโรป อนุมัติให้ Evusheld ใช้ในการรักษาผู้โควิด 19 ที่เริ่มมีอาการในระยะแรก ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรง
ส่วนประเทศไทยกำลังจะยื่นเอกสารขออนุญาตขึ้นทะเบียนภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป Evusheld เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่งติดเชื้อในระยะแรกและมีความเสี่ยงสูงตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์.
ข้อมูลและภาพจาก กรมควบคุมโรค