ดร.อนันต์ เผยสาเหตุชุดตรวจ ATK บางยี่ห้อ ตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19
ดร.อนันต์ เผยสาเหตุการตรวจหาไวรัสโควิด-19 ด้วยชุดตรวจโควิด ATK ในบางยี่ห้อจะตรวจไม่พบ หรือ ตรวจได้ประสิทธิภาพที่ต่ำลงมากๆ เป็นเพราะแอนติบอดีที่ใช้ในการจับโปรตีน N ในชุดตรวจ ATK เหล่านั้น จับโปรตีนที่มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนของโปรตีน N ของสายพันธุ์ไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้
ดร.อนันต์ เผยสาเหตุการตรวจหาไวรัสโควิด-19 ด้วยชุดตรวจโควิด ATK ในบางยี่ห้อจะตรวจไม่พบ หรือ ตรวจได้ประสิทธิภาพที่ต่ำลงมากๆ เป็นเพราะแอนติบอดีที่ใช้ในการจับโปรตีน N ในชุดตรวจ ATK จับโปรตีนที่มีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว
วันนี้ (10 ก.ย.65) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana
ภายหลังจากที่ได้มีโอกาสเป็น Reviewer ให้กับ Paper ที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมาใน Frontiers in Virology เกี่ยวกับ "สายพันธุ์ไวรัสที่อาจจะตรวจ ATK บางยี่ห้อไม่พบ"
ดร.อนันต์ ระบุว่า ทีมวิจัยนี้เป็นกลุ่มจากเยอรมนี โดยพบว่า สายพันธุ์ไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนของโปรตีน N โดยเฉพาะตรงตำแหน่งที่ 203 โดยเปลี่ยนจาก Arginine (R) ไปเป็นตัวอื่น
เช่น Lysine (R203K), Methionine (R203M) โดยเฉพาะ R203M ซึ่งพบได้บ่อยในหลายๆ สายพันธุ์ ส่งผลให้การตรวจหาไวรัสด้วย ATK (Antigen Test Kit) ในบางยี่ห้อจะตรวจไม่พบ หรือ ตรวจได้ประสิทธิภาพที่ต่ำลงมากๆ
เนื่องด้วยสาเหตุเป็นเพราะว่า แอนติบอดีที่ใช้ในการจับโปรตีน N ในชุดตรวจ ATK เหล่านั้น จับโปรตีนที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้แล้ว
ทั้งนี้ เราไม่ทราบว่าแต่ละบริษัทผลิตแอนติบอดีต่อ N มาใช้ใน ATK ด้วยตัวเอง หรือ บริษัทใช้วิธีซื้อแอนติบอดีจากผู้ผลิตแล้วนำมาประกอบเป็นชุดตรวจขายซึ่งราคาจะถูกกว่าแบบแรก
ในกรณีที่เป็นแบบแรก บริษัทน่าจะมีตัวเลือกในการเปลี่ยนโคลนที่จำเพาะขึ้นในกรณีที่เชื้อหนีแอนติบอดีได้ปรับเป็น version 2 ได้ไวเนื่องจากมีตัวเลือกของแอนติบอดีให้ใช้เยอะ
แต่ถ้าเป็นแบบหลังจะเป็นปัญหา เพราะแอนติบอดีโคลนที่ขายเป็น Bulk ขนาดใหญ่คงไม่หมดไปง่ายๆ ถ้าจะซื้อตัวใหม่ราคาจะสูงขึ้นกว่าของเดิมแน่นอน
"ดังนั้นจะหมายถึงคุณภาพของ ATK ที่จะแตกต่างกันในอนาคตถ้าเชื้อที่ตรวจไม่พบด้วยแอนติบอดีตัวเดิมมีมากขึ้น และกลายเป็นสายพันธุ์หลัก การตรวจสอบคุณภาพคงต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะแนวโน้มไวรัสจะเปลี่ยนต่อไปอีกแน่นอน ถ้า ATK ยังจำเป็นอยู่ ประเด็นนี้สำคัญ" ดร.อนันต์ ระบุ.
อ้างอิง Frontiers in Virology
ข้อมูลจาก Anan Jongkaewwattana
ภาพจาก TNN Online