ไทยปรับลดสถานะ "โควิด-19" จากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 1 ต.ค.นี้
"อนุทิน" เผยเตรียมปรับลดสถานะโควิด-19 จาก "โรคติดต่ออันตราย" เป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" คาดเริ่ม 1 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ เตรียมให้โรงพยาบาลสามารถจ่ายยารักษาโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป ยืนยันไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
"อนุทิน" เผยเตรียมปรับลดสถานะโควิด-19 จาก "โรคติดต่ออันตราย" เป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" คาดเริ่ม 1 ต.ค.นี้ นอกจากนี้ เตรียมให้โรงพยาบาลสามารถจ่ายยารักษาโควิด-19 ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป ยืนยันไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
วันนี้ (8 ส.ค.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565 โดยได้แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
1.คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบนโยบายและการปฏิบัติในการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการหลังการระบาดใหญ่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรคในปัจจุบัน ซึ่งประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วย และมีระบบการสาธารณสุขที่รองรับได้
ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเรื่องการบริหารยา จึงจะมีการอนุญาตให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดจัดหายาต้านไวรัสเอง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้เป็นต้นไป ส่วนค่าใช้จ่ายนั้น ผู้ป่วยสามารถเบิกได้จากกองทุน สปสช. เช่นเดียวกับการรักษาโรคติดเชื้ออื่น ๆ
2.คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องยกเลิกชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข
เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดยพิจารณาปรับ "โรคโควิด-19" จาก "โรคติดต่ออันตราย" เป็น "โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง" ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโรค
3.คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ รับทราบสถานการณ์ของโรคโควิด-19 และการเฝ้าระวังสายพันธ์เชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์มีแนวโน้มพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
แต่ประชาชนได้เข้าใจว่ายังคงรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และรับยาตามที่แพทย์ได้สั่งให้ ซึ่งทุกวันนี้ระบบสาธารณสุข ยังคงสามารถให้บริการประชาชน และรักษาได้ตามดุลพินิจของแพทย์
โดยมีการเตรียมเรื่องของยารักษาและวัคซีน รวมถึงการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป หรือแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาว (Long-acting Antibody - LAAB) อย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงได้ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่มีสถานการณ์ของการขาดยา หรือเวชกรรมใด ๆ ซึ่งในยาฟาวิพิราเวียร์ ปัจจุบันยังคงต้องใช้อยู่
แม้จะมียายาโมลนูพิราเวียร์แล้วก็ตาม เพราะยาโมลนูพิราเวียร์ จะสามารถให้กับผู้ป่วยอายุ 18 ปี ขึ้นไปแต่สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ หรือเด็กและเยาวชนที่ต่ำกว่า 18 ปี ยาโมนูลพิลาเวียไม่ได้ขึ้นทะเบียนรองรับ ดังนั้นจึงนำมาใช้ในการรักษาไม่ได้ คือมีเพียงแค่ยาฟาวิพิราเวียเท่านั้นที่จะใช้รักษาในเด็กต่ำกว่า 18 ปีได้
ส่วนเรื่องฝีดาษลิง คณะกรรมการโรคติดต่อมีความเห็นว่า ประเทศไทยยังคงสามารถควบคุมได้ และได้มีการจัดซื้อวัคซีนเพื่อมารองรับบุคลากรในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง หรือสัมผัสใกล้ชิดและมีความเสี่ยงสูง ก็จะได้รับวัคซีนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันวัคซีนฝีดาษลิง ยังไม่ใช่วัคซีนที่จำเป็นแพร่หลายที่จะต้องฉีดให้กับบุคคลทั่วไป
ส่วนผู้ป่วยทั้ง 4 ราย พบว่ามีประวัติความเสี่ยงอย่างชัดเจน มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้สัมผัสเสี่ยงต่าง ๆ ในขณะนี้ ยังมีผลเป็นลบ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสที่มีอาการคล้ายคลึงนั้น จากที่มีการนำเชื้อไปตรวจ ก็พบว่าไม่ได้เป็นโรคฝีดาษลิงแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยืนยันว่า ตามนิยามในขณะนี้ถือว่าโควิด ได้ลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ซึ่งถือว่ากระทรวงสาธารณสุขยังคงควบคุมได้ ทั้งในเรื่องการใช้เครื่องช่วยหายใจ ที่ยังอยู่ในระดับที่รับได้
ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีการลดสถานะลง ซึ่งประชาชนยังคงเข้ารับการรักษา และได้รับบริการสาธารณสุขได้ ส่วนในเรื่องของวัคซีนนั้นในอนาคตอันใกล้ อาจจะมีวัคซีนที่ป้องกันโรคโควิด รวมกับโรคไข้หวัดสายพันธุ์อื่น ๆ
กระทรวงสาธารณสุขก็เชื่อว่า การแพร่ระบาดนี้จะได้หลุดพ้นออกจากประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เรื่องของการฉีดวัคซีนหลังจากนี้ อาจจะมีการดำเนินการไปเป็นระยะปีต่อปีเพียงเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นและมีมติว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ จะมีการลดสถานะให้เป็น "โรคติดต่อเฝ้าระวัง"
สำหรับเรื่องการควบคุมราคายานั้น สปสช.จะมีการควบคุมราคายาให้อยู่ในการควบคุมอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลดูแลในเรื่องของยาให้กับผู้ป่วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่แนะนำให้ซื้อยาเพื่อนำมาเก็บไว้ และในความเป็นจริงก็ไม่สามารถที่จะหาซื้อได้เอง ถ้าหากว่าไม่ได้มีแพทย์เป็นผู้ออกให้
นายอนุทิน ยังกล่าวถึงเรื่องของตู้กดกัญชาด้วยว่า หากผู้จัดทำมีการขออนุญาต ก็ต้องดูว่าได้รับอนุญาตมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าหากไม่ได้รับอนุญาต ก็จะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการตามกฎหมาย
โดยกรณีของตู้ดังกล่าว ถ้าจำหน่ายช่อดอกกัญชาที่มีสาร THC เกิน 0.2 ก็ถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งการใช้นั้นถือว่ามีกฎระเบียบเข้ามาควบคุมอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากใช้เพื่อสันทนาการ
ส่วนความคืบหน้าในการออกกฎหมายมาควบคุมนั้น ได้มีการพูดคุยกับประธานกรรมาธิการแล้ว ซึ่งได้มีการรับปากว่าจะให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนนี้.
ภาพจาก AFP , Reuters