ผลศึกษาชี้ ผมร่วง-ความผิดปกติทางเพศ ผลกระทบจากอาการลองโควิด
สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร ระบุ ประชาชน 2 ล้านคนในประเทศ ถูกประมาณการว่า ได้รับผลกระทบจากอาการ "ลองโควิด" (Long Covid)
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ระบุถึงผลการศึกษา อาการ Long COVID พบมากถึง 62 อาการ ซึ่งเผยแพร่โดยทีมวิจัยจากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ในวารสารการแพทย์เนเจอร์ ซึ่งที่ผ่านมาเราทราบกันดีเรื่องความผิดปกติของทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนอ่อนเพลียและเหนื่อยล้า
การวิจัยนี้ยังชี้ให้เห็นว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นทำให้มีความเสี่ยงต่อเรื่องผมร่วง (hair loss) มากกว่าไม่ติดเชื้อถึง 4 เท่า นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการมีปัญหาด้านระบบสืบพันธุ์หลากหลายอาการ ได้แก่ เพศหญิงจะมีความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาประจำเดือนมามากกว่าปกติ และสิ่งคัดหลั่งจากช่องคลอดออกมาผิดปกติ
แต่เพศชายนั้นดูจะน่ากังวล เพราะเสี่ยงต่อ ปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ หรือนกเขาไม่ขัน มากขึ้น 1.26 เท่า หลั่งอสุจิยากขึ้น 2.63 เท่า และความต้องการทางเพศลดลง 2.36 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ติดเชื้อ ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ผลการศึกษาฉบับใหม่ที่ คาดว่า ในสหราชอาณาจักร ผู้มีอาการลองโควิดถึง 2 ล้านคน โดยอัตราการเป็นลองโควิด อยู่ในกลุ่มผู้หญิงมากที่สุด อายุระหว่าง 35 ถึง 69 ปี และความอ่อนเพลียเหนื่อยล้า ยังคงเป็นอาการที่ปรากฏมากที่สุด ถึงร้อยละ 55 สำหรับผู้เป็นลองโควิด รองลงมาเป็นอาการหายใจได้ไม่เต็มที่ ร้อยละ 32 ส่วนร้อยละ 23 มีอาการไอ และร้อยละ 23 ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
ไวรัสโควิด สามารถ “เจาะอุโมงค์” ผ่านจมูก เข้าสู่สมอง
นอกจากนี้ ยังมีผลวิจัยจากสถาบันปาสเตอร์ ของฝรั่งเศส ตีพิมพ์ผลการค้นพบล่าสุดในวารสาร Science Advances โดยระบุว่าไวรัสโควิดที่เข้าสู่เซลล์เนื้อเยื่อภายในจมูก สามารถ กระตุ้นให้เกิดการสร้างท่อขนาดเล็กระดับนาโน เชื่อมต่อระหว่างเซลล์เนื้อเยื่อจมูกและเซลล์สมองได้แล้ว ซึ่งไวรัสโควิดจะใช้ช่องทางนี้เป็น "อุโมงค์" เพื่อเดินทางผ่านเข้าสู่สมอง
การค้นพบนี้ช่วยอธิบายสาเหตุของภาวะสมองล้า (brain fog) ซึ่งเป็นความผิดปกติในการใช้ความคิดและความทรงจำหลังล้มป่วยด้วยโรคโควิด-19 ทั้งที่เซลล์สมองนั้นไม่น่าจะติดเชื้อไวรัสโควิดได้เหมือนกับอวัยวะอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะในระบบทางเดินหายใจเช่นปาก จมูก และปอด ซึ่งเต็มไปด้วยตัวรับ ACE2 ที่ไวรัสชื่นชอบ แต่เซลล์สมองแทบจะไม่มีตัวรับ ACE2 ที่ไวรัสใช้ผ่านเข้าสู่เซลล์ร่างกาย
อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการทดสอบยืนยันกระบวนการดังกล่าวในร่างกายของมนุษย์อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าการติดเชื้อโควิดในสมองมาจากกระบวนการนี้จริง ซึ่งหากได้รับการยืนยันแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะสามารถคิดค้นยาหรือโมเลกุลที่ระงับการสร้างอุโมงค์เชื่อมต่อเซลล์ดังกล่าว เพื่อสกัดการเข้าสู่สมองของไวรัสโควิดได้ต่อไป
ผู้ป่วยโควิดในรพ.ออสเตรเลีย พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ด้าน นักวิจัยในออสเตรเลียระบุว่า ขณะนี้ คาดว่า ชาวออสเตรเลียราว 4.5 แสนคนกำลังเผชิญกับภาวะ Long Covid ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจถี่ ภาวะสมองล้า (Brain Fog) รวมถึงมีความผิดปรกติในการรับกลิ่นและรส
ซึ่งออสเตรเลีย พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง อยู่ที่ 5,433 ราย ณ วันจันทร์ (25 ก.ค.) เพิ่มขึ้นจาก 5,001 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า ทำให้ รพ.หลายแห่งกำลังเผชิญกับแรงกดดันมากขึ้น จากจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในรพ. เพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่ากับระลอกในเดือน ม.ค. 65 ที่ระดับ 5,390 ราย ทำให้ต้องมีการส่งนักเรียนแพทย์ พยาบาล เพื่อสนับสนุนการทำงานในโรงพยาบาล
ในวันนี้ (26 ก.ค.) ทางการออสเตรเลียรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่มากกว่า 40,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 90 ราย
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP