TNN "วัคซีนโควิด-19" ครบ จะต้องฉีดกี่เข็ม? "หมอยง" เผยหลักการให้วัคซีนป้องกันโรค

TNN

เกาะติด COVID-19

"วัคซีนโควิด-19" ครบ จะต้องฉีดกี่เข็ม? "หมอยง" เผยหลักการให้วัคซีนป้องกันโรค

วัคซีนโควิด-19 ครบ จะต้องฉีดกี่เข็ม? หมอยง เผยหลักการให้วัคซีนป้องกันโรค

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” เผยหลักการให้วัคซีนป้องกันโรค กรณีการฉีด "วัคซีนโควิด-19" ให้ครบ จะต้องฉีดกี่เข็ม?

โควิด-19 “โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.5” ครองการแพร่สูงสุดในปัจจุบัน แพทย์ได้ออกมาสนับสนุนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ล่าสุด วันนี้ (23 ก.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” เกี่ยวกับหลักการให้วัคซีนป้องกันโรค

โดยระบุว่า หลักการให้วัคซีนป้องกันโรค จะประกอบไปด้วยการให้วัคซีนเบื้องต้น และทิ้งช่วงอีก 1 เข็ม เป็นการกระตุ้นให้ภูมิอยู่ในระดับที่สูงมาก จึงจะเรียกว่าได้รับวัคซีนครบ

เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี วัคซีนจะต้องให้เบื้องต้น 2 เข็ม และตามด้วยกระตุ้นอีก 1 เข็ม จึงจะเรียกว่าได้ครบ กล่าวคือ ให้เบื้องต้นห่างกัน 1 เดือน และหากไปอีก 5 เดือนให้เข็มที่ 3  ก็จะเป็นการครบการให้วัคซีนในการป้องกัน 

ทำนองเดียวกันการให้ "วัคซีนโควิด-19" ก็เช่นเดียวกัน การให้ครบหมายถึงต้องให้ 3 ครั้ง ให้เบื้องต้น 2 ครั้ง และตามด้วยกระตุ้นที่ 4 ถึง 6 เดือนต่อมาอีก 1 ครั้ง จึงจะเรียกว่าได้รับวัคซีนครบ

ส่วนใครที่ได้มากกว่า 3 ครั้ง ถือว่าเป็นการกระตุ้นเพิ่ม ซึ่งก็ควรจะเว้นระยะห่างจากเข็มสุดท้าย ไปประมาณ 4-6 เดือนเช่นเดียวกัน เพื่อยกระดับให้ภูมิต้านทานสูงขึ้น

จากข้อมูลการให้วัคซีนในประเทศไทย ที่ยังมีความเข้าใจผิดคิดว่าการให้ครบ คือ ให้ 2 ครั้ง ซึ่งได้รับไปแล้ว 53 ล้านโดสหรือประมาณแค่ 80% กว่าเล็กน้อย และการให้ครบ 3 ครั้ง ขณะนี้เพิ่งได้เพียง 26 ล้านโดส หรือประมาณ 40% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าประชากรไทยส่วนใหญ่ยังให้วัคซีนไม่ครบร่วม 60%

ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจใหม่ คือ การให้วัคซีนให้ครบ การให้วัคซีนครบคือให้ 3 ครั้ง ไม่ใช่ 2 ครั้ง และส่วนที่มากกว่า 3 ครั้ง เป็นเข็มกระตุ้นให้ภูมิต้านทานยังคงสูงอยู่

อย่างไรก็ตาม ศ.นพ.ระบุด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่ทางราชการหน่วยงานรับผิดชอบ จะต้องเปลี่ยนคำจำกัดความการให้วัคซีนครบ เป็น 3 ครั้ง และยอมรับว่าการให้วัคซีนครบ ในประเทศเรายังอยู่ในระดับต่ำ ประมาณ 40% เท่านั้นเอง จำเป็นต้องให้ผู้รับบริการ และผู้ให้บริการ เร่งการให้วัคซีนให้ครบให้ได้ประมาณสูงที่สุดถ้าถึง 90% ขึ้นไปยิ่งดี.


ข้อมูลจาก Yong Poovorawan

ภาพจาก TNN ONLINE

ข่าวแนะนำ