"สิทธิบัตรทอง" ติดเชื้อโควิด-19 ต้องทำอย่างไร รักษาได้ที่ รพ.ไหนบ้าง?
ผู้ป่วย "สิทธิบัตรทอง" ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลไหนบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร
สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. ให้ข้อมูลกรณี ผู้ป่วยโควิด-19 "สิทธิบัตรทอง" สามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลไหนบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร โดยระบุว่า
ตรวจ ATK เมื่อมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19
1.ตรวจ ATK ขึ้น 1 ขีด ไม่พบเชื้อ ไม่ติดโควิด-19 แต่ถ้าเสี่ยงสูงต้องกักตัว 5 สังเกตอาการต่ออีก 5 วัน
2.ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด พบเชื้อโควิด 19 รักษาตามแนวทางดังนี้
- รักษาตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" ของกระทรวงสาธารณสุข
- ไปที่หน่วยบริการประจำ หรือหน่วยบริการปฐมภูมิตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
- หรือ โทร.ประสานร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการ ‘รับยา-แนะนำการใช้ยา’
เช็กรายชื่อร้านยา คลิก > https://www.nhso.go.th/downloads/197
เช็กตำแหน่ง “ร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว” บนแผนที่ดิจิทัลกับ NOSTRA Map คลิก > map.nostramap.com
ทั้งนี้ ร้านขายยารับเฉพาะผู้ป่วย "สิทธิบัตรทอง" หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น โดยผู้ป่วยต้อง กักตัว 7 วันและสังเกตอาการต่ออีก 3 วัน
กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่ม 608 หรือมีอาการรุนแรง
- รับการรักษาตามดุลพินิจแพทย์ ไม่เสียค่าใช้จ่าย (ไม่ว่าจะเป็นรักษาแบบผู้ป่วยใน หรือแพทย์สั่งให้รักษาที่บ้าน Home ward)
- เข้ารักษาที่หน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการปฐมภูมิตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่
ทั้งนี้ "กลุ่ม 608" คือ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง)
ต้องมีอาการ ดังต่อไปนี้จึงจะเข้าข่ายวิกฤติ ได้แก่ หอบเหนื่อยหนักมาก พูดไม่เป็นประโยค แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง อ่อนเพลีย ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว มีภาวะช็อก/โคม่า ซึมลง ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ค่าออกซิเจนต่ำกว่า 94
ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ เข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330
ข้อมูลจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP