โควิด-19 เข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ ชี้ไทยยังไม่ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้ "โควิด-19" ไทยจะเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ในวันที่ 1 ก.ค.2565 ตามแผน แต่ยังไม่ประกาศให้เป็น "โรคประจำถิ่น" ต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง พร้อมย้ำสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ยังไม่พบความรุนแรงเพิ่มขอประชาชนอย่างกังวล
วันนี้ (27 มิ.ย.65) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) ในวันที่ 1 ก.ค.ตามแผน คือ การระบาดใหญ่ในประเทศไทยคงไม่มีแล้ว โรคลดความรุนแรงลง และระบบสาธารณสุขรองรับได้
ส่วนการจะประกาศให้โควิดโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 กรกฎาคม อาจจะต้องเปลี่ยนต้องรอให้องค์การอนามัยโลกเป็นผู้ประกาศ และต้องประเมินสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อผู้เสียชีวิตในขณะนั้นอีกครั้ง
ทั้งนี้ การจะประกาศเข้าสู่โรคประจำถิ่น ต้องเป็น ศบค.เป็นผู้ประกาศเท่านั้น กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้นำเสนอข้อมูลในเรื่องการผ่อนคลายและการประกาศต่างๆให้กับทาง ศบค.
ส่วนกรณีที่ หลายฝ่ายมีความกังวลถึง โควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 นั้น นพ.เกียรติภูมิ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานความรุนแรงของทั้ง 2 สายพันธุ์ ส่วนผู้ป่วยบางรายที่พบมีอาการปวดรุนแรงอาจเป็นเพราะมีปัจจัยร่วมอื่นเช่นโรคประจำตัวและสภาพแวดล้อม หรือร่วมถึงการยังไม่ได้รับวัคซีน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีผลให้ระดับภูมิคุ้มกันลดลงในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์หรือผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จึงขอแนะนำให้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันลดการป่วยหนักและการเสียชีวิต
ขณะที่ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คว่าไทยน่าจะมีการทยอยระบาดของ BA.5 มาแทนที่ทุกสายพันธุ์เนื่องจากมีอัตราการแพร่เชื้อที่เร็วกว่า
เช่นดียวกับหลายประเทศเช่นสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร พบแนวโน้มของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 กำลังระบาดเข้ามาแทนที่โอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม
ส่วนความรุนแรงผู้เชี่ยวชาญหลายท่านมีความเห็นสอดคล้องกันว่า BA.4 และ BA.5 สามารถระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.2 แต่ความรุนแรงและอาการทางคลินิก น่าจะไม่แตกต่างจาก BA.2
อย่างไรก็ดี คงต้องรอข้อมูลทางคลินิกจากหลายประเทศในยุโรป อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาที่ BA.4 และ BA.5 กำลังระบาดมาสรุปร่วมด้วย.
ภาพจาก แฟ้มภาพ TNN ONLINE