สธ.ประชุมเดินหน้าโควิดสู่โรคประจำถิ่น จ่อชง ศบค.คลายล็อกสถานบันเทิง
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชนเดินหน้าจัดการบริหารสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นครั้งที่ 1 หลังจากแนวโน้มสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย
วันนี้ (12 พ.ค.65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประชุมร่วมกับภาครัฐและเอกชน เช่น ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในการบูรณาการความร่วมมือการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นครั้งที่ 1/2565
โดยวาระการประชุมสำคัญ ดังนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น แผนและมาตรการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น
นายอนุทิน ระบุภายในห้องประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายโดยกระทรวงสาธารณสุขมองว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันดำเนินงานให้โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม หลังจากที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตมากกว่าเกือบ 2 ปีครึ่ง โดยต่อจากนี้จะเข้าสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คำว่า "การเข้าสู่โรคประจำถิ่น" ไม่ได้หมายความว่า โควิด-19 จะไม่ได้เป็นโรคอันตราย หรือไม่ได้เอาใจใส่ แต่จะทำให้เป็นอีกโรคหนึ่งที่จะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในประเทศ ว่าระบบต่างๆ จะสามารถรองรับ และมีทรัพยากรที่เพียงพอ ภายใต้ "ยาพอ เตียงพอ หมอพอ" เชื่อว่า 3 ปัจจัยนั้น จะครอบคลุมในการเดินหน้าโควิดสู่โรคประจำถิ่น
โดยขณะนี้ อัตราครองเตียงในโรงพยาบาล ถือว่าต่ำกว่าร้อยละ 20 มั่นใจได้ว่าการดูแลประชาชน จะมีทรัพยกรที่เพียงพอ
ส่วน "วัคซีนโควิด" ยืนยันว่า มีความเพียงพอในการที่จะนำไปฉีดให้กับประชาชนในเข็มกระตุ้น ทั้งนี้หากพบว่าผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รับวัคซีนครบ 3 เข็มแล้ว จะให้ทำการสอบสวนโรคอย่างละเอียด เพื่อหาสาเหตุโดยตรงว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือไม่
เน้นย้ำกลุ่มผู้สูงอายุให้มารับวัคซีนโควิดและวัคซีนเข็มกระตุ้น เนื้องจากตอนนี้ ถือว่าตอนนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ขณะเดียวกัน ได้มองข้ามไปสู่การรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4 แล้ว ประชาชนที่รับวัคซีนโควิดครบ 3 เข็มตามเกณฑ์ ก็ขอให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 4
ทั้งนี้ แผนการบริหารเข้าสู่โรคประจำถิ่น เช่น ภาพรวมของประเทศการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ต้องให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 ของประชากร ปรับระบบการเฝ้าระวัง การระบาดเป็นกลุ่มก้อนและผู้ป่วยปอดอักเสบ รวมถึงจะมีการผ่อนคลายมาตรการสำหรับผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าไทย ปรับแนวทางแยกกักผู้ป่วยและกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
นายอนุทิน ระบุเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมผู้ประกอบการภาคเอกชนพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ ในการเดินหน้าโควิดเข้าสู่โรคประจำถิ่น รวมถึงดีใจที่ยกเลิกระบบ Test and Go ซึ่งทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้น
ขณะเดียวกันภาคเอกชน ได้มีการเสนอให้ไทยยกเลิกระบบ Thailand Pass ซึ่งเรื่องดังกล่าว จะต้องเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ศบค. เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเอง จะต้องมีมาตรการที่ให้ความมั่นใจได้ว่า จะควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้
นอกจากนี้ จะมีการเสนอผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ โดยกระทรวงสาธารณสุข นำโดยปลัดกระทรวงฯ จะจัดทำแผนมาตรการผ่อนคลายเป็นขั้นตอนค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะเสนอในที่ประชุม ศบค. ในวันที่ 20 พ.ค.นี้ด้วย.
ภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16