TNN "อนุทิน" เซ็นปรับโรคโควิด-19 รักษาฟรีตามสิทธิ์ - อาการรุนแรงใช้สิทธิ์ UCEP Plus ได้

TNN

เกาะติด COVID-19

"อนุทิน" เซ็นปรับโรคโควิด-19 รักษาฟรีตามสิทธิ์ - อาการรุนแรงใช้สิทธิ์ UCEP Plus ได้

อนุทิน เซ็นปรับโรคโควิด-19 รักษาฟรีตามสิทธิ์ - อาการรุนแรงใช้สิทธิ์ UCEP Plus ได้

"อนุทิน" ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรับโควิด-19 ออกจาก UCEP รักษาตามสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ แต่หากมีอาการรุนแรงหรือมีโรคร่วมสามารถใช้สิทธิ์ UCEP Plus ได้

วันนี้ (21 ก.พ.65) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.พ.65 ที่เสนอโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้นำโรคโควิด-19 ออกจาก "UCEP" ภาวะวิกฤติฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2665 โดยกำหนดให้โรคโควิด-19 เป็นโรคที่รักษาได้ตามสิทธิ์ของประชาชนที่มีอยู่

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ สบส.ชี้แจงทำความเข้าใจให้กับประชาชนทราบว่า กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ยกเลิกหรือตัดสิทธิ์การรักษา แต่เป็นจัดระเบียบขั้นตอนการรักษาเพื่อให้การใช้งบประมาณได้เกิดประโยชน์สูงสุด และยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อสิทธิ์การรักษา 

โดยที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงการรักษาโควิด-19 ตามสิทธิ์เป็นเวลา 1 เดือน แต่หากมีอากาศรุนแรงหรือมีโรคร่วมสามารถใช้สิทธิ์ "UCEP Plus" ได้ ที่สามารถเข้ารักษาได้ทุกโรงพยาบาล 

ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดคำจำกัดความว่า "UCEP Plus" เช่น หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น เจ็บหน้าอกเฉียบพลันรุนแรง แขน-ขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด

รวมทั้ง อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากพบอาการที่เข้าข่ายสามารถใช้สิทธิ์ได้ทันที

อนุทิน เซ็นปรับโรคโควิด-19 รักษาฟรีตามสิทธิ์ - อาการรุนแรงใช้สิทธิ์ UCEP Plus ได้

สำหรับสถานการณ์การครองเตียง ICU เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีข่าวว่า จำนวนเตียง ICU ไม่พอนั้น นายอนุทิน ระบุว่า เรื่องนี้ได้มีการตรวจสอบกับปลัดกระทรวงสาธารณสุขทุกเช้า ได้รับคำยืนยันว่า ระบบสาธารณสุขยังสามารถจัดการได้ และมีเตียงรองรับเพียงพอ

แต่ก็ต้องแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามเกณฑ์ เช่น หากไม่มีอาการ อาการน้อย และมีความพร้อมที่จะรักษาตัวในบ้านได้ จะจัดเข้าสู่ระบบ HI กรณีไม่สามารถอยู่บ้านได้ จะเข้าระบบ CI ซึ่ง กทม.ยืนยันกับกระทรวงสาธารณสุขว่า เตรียม CI ไว้พร้อม หากมีอาการรุนแรงขึ้นจะจัดเข้าสู่ระบบ Hospitel

ขณะเดียวกันได้ประสาน สปสช.เพิ่มคู่สาย 1330 ในการรับลงทะเบียนผู่ป่วยเพื่อรับเข้าสู่ระบบการรักษาขั้นตอนต่อไปด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจริง แต่ยังอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ 

ขณะที่ เมื่อช่วงเช้าวันนี้ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข เพิ่ม "ยาฟ้าทะลายโจร" ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบ HI และ CI 

เนื่องจากผู้ติดเชื้อส่วนมากไม่มีอาการ สามารถกินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะว่าผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หากรับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าไวรัส จะถือว่ารับยาเกินขนาน 

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ได้สนับสนุนเพิ่มยาฟ้าทะลายโจรในจำนวนหลักสิบล้านเม็ด ซึ่งองค์การเภสัชกรรมก็ผลิตได้ และได้สนับสนุนการผลิตยาฟ้าทะลายโจรที่ผลิตในประเทศ 

ส่วนกรณีที่จะปรับการเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ในระบบ Test&Go จาก 2 ครั้ง เหลือ 1 ครั้งนั้น นายอนุทิน ระบุว่า กำลังเร่งพิจารณาอยู่เนื่องจากมีข้อมูลว่าการแพร่เชื้อไม่ได้มากขึ้น อีกทั้งการตรวจหาเชื้อ RT-PCR เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เดินทางที่จะต้องมีค่าจองโรงแรม และจะเกี่ยวโยงไปถึงประกันสุขภาพที่สูงขึ้น เป็นภาระที่ผู้เดินทางต้องรับ ทั้งนี้ ตนรับฟังทุกเรื่องและพยายามหาทางแก้ไข.


ข้อมูลและภาพจาก ทีมข่าว TNN ช่อง 16


ข่าวแนะนำ