นักวิทยาศาสตร์จับตาโอมิครอน สายพันธุ์ "BA.2" แทนที่ "BA.1" ในเอเชียและยุโรป

นักวิทยาศาสตร์จับตาโอมิครอน สายพันธุ์ "BA.2" แทนที่ "BA.1" ในเอเชียและยุโรป

สรุปข่าว

วันนี้ (1 ก.พ.65) สื่อต่างประเทศรายงานว่า ตามฐานข้อมูลติดตามไวรัสของหน่วยงานที่ชื่อว่า GISAID จนถึงวันที่ 25 ม.ค.65 พบว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เชื้อไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 ได้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก และทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นมากในหลายประเทศ คิดเป็นอัตราส่วนราวร้อยละ 98.8 ของจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสรายใหม่ทั้งหมด 

แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า ในหลายประเทศมีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ BA.2 กำลังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และนักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลว่า เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 อาจกำลังเข้ามาแทนที่สายพันธ์ BA.1 ในทวีปยุโรปและเอเชีย

เทรเวอร์ เบดฟอร์ด นักไวรัสวิทยาแห่งศูนย์มะเร็ง Fred Hutchinson ผู้ติดตามตรวจสอบการกลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัส ระบุในทวิตเตอร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เวลานี้เชื้อโอมิครอน BA.2 มีอัตราส่วนราวร้อยละ 82 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในเดนมาร์ก ร้อยละ 9 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอังกฤษ และร้อยละ 8 ในสหรัฐฯ โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ GISAID และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (University of Oxford)

รายงานวิจัยบางชิ้นก่อนหน้านี้ชี้ว่า เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 อาจสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1 ซึ่งก็แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วอยู่แล้ว โดยนักวิจัยในเดนมาร์กระบุว่า เชื้อ BA.2 อาจสามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่า BA.1 ราว 1.5 เท่า

ส่วนงานวิจัยของสำนักงานความมั่นคงด้านสาธารณสุขของอังกฤษ หรือ HSA ชี้ว่า เชื้อ BA.2 มีอัตราการแพร่เชื้อภายในครอบครัว ประมาณร้อยละ 13.4 ขณะที่สายพันธุ์ BA.1 มีอัตราการแพร่เชื้อร้อยละ 10.3

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานว่า BA.2 จะสามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้มากกว่าหรือไม่ และก่อให้เกิดอาการโควิดรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งคำถามที่ว่าผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโอมิครอน BA.1 มาแล้วยังสามารถติดเชื้อ BA.2 ด้วยได้หรือไม่

ด้าน องค์การอนามัยโลก ระบุว่า นอกจากเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 แล้ว ขณะนี้ยังพบเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยอื่น ๆ ได้แก่ BA.1.1.529 และ BA.3 ซึ่งทั้งหมดมีรหัสพันธุกรรมที่คล้ายกัน แต่ก็มีลักษณะบางอย่างที่กลายพันธุ์ไปจนอาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างกันเช่นกัน.



ภาพจาก AFP

ที่มาข้อมูล : -

ที่มารูปภาพ :

แท็กบทความ

โควิด
ข่าวโควิด
โควิด 19
โควิด-19
covid-19
โอไมครอน
โอมิครอน
โควิดกลายพันธุ์
โควิดโอไมครอน
โควิดสายพันธุ์ใหม่