

สรุปข่าว
นับแต่ปลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการ “ลงดาบ” ของหน่วยงานของจีนต่อกิจการบิ๊กเทคมากหน้าหลายตามาอย่างต่อเนื่อง และมักเกิดคำถามว่ารายใดจะหลุดรอดจาก “คมดาบ” บ้าง หรือกิจการใดจะเป็นรายต่อไป ...
เมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2021 ก็ถึงคิวของวีแชต (WeChat) หรือที่รู้จักกันในนามของ “เวยซิ่น” (Weixin) สื่อสังคมออนไลน์ที่ใหญ่สุดของจีนที่โดนคมกระบี่อีกครั้ง โดยรัฐบาลเขตไฮ่เตี้ยน (Haidian) แห่งกรุงปักกิ่งได้แจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท เซินเจิ้นเทนเซ้นต์คอมพิวเตอร์ซิสเต็ม จำกัด (Shenzhen Tencent Computer Systems Co., Ltd.) ในข้อหาที่แอพวีแชต หนึ่งในธุรกิจของกลุ่มเทนเซ้นต์ (Tencent Holdings) กระทำผิดคดีแพ่งด้านกฎหมายสาธารณะประโยชน์ (Public Interest Lawsuit) ในส่วนของระบบเยาวชน (Youth Mode) ที่ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก
การลงดาบในครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่สื่อของรัฐบาลจีนบางรายได้วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมเกมส์ออนไลน์ และแพล็ตฟอร์มออนไลน์อย่างรุนแรงว่ากำลังสร้างปัญหาใหม่ในกลุ่มเด็ก โดยเปรียบเปรยเกมส์ออนไลน์ว่าเป็นเสมือน “ฝิ่นทางใจ” ที่ทำให้เด็กวัยรุ่นติดกันงอมแงม
เทนเซ้นต์ ซึ่งถือเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจเกมส์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็เด้งรับลูกในทันที โดยประกาศปรับลดเวลาในการเข้าใช้บริการเกมส์ออนไลน์ของเด็กจีนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลง จากเดิมไม่เกิน 1.5 ชั่วโมงเหลือ 1 ชั่วโมงในวันธรรมดา และจากไม่เกิน 3 ชั่วโมงเหลือ 2 ชั่วโมงในวันหยุด แต่ก็ใช่ว่าเรื่องจะจบลงแค่นั้น เพราะเพียงไม่กี่วันให้หลัง รัฐบาลจีนก็แจ้งความดำเนินคดีกับเทนเซ้นต์ตามมา
เทนเซ้นต์โพสต์ให้ข่าวผ่านเหว่ยปั๋ว (Weibo) หรือทวิตเตอร์ (Twitter) ของจีนว่า ทีมงานกำลังเร่งศึกษาว่าระบบส่วนใดบ้างที่ขัดแย้งกับข้อกฎหมายของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของระบบ Youth Mode ของบริษัทฯ ที่เมื่อผู้ใช้เปิดระบบดังกล่าวก็จะจำกัดบางฟังก์ชั่นของบริการ อาทิ การชำระเงิน และการค้นหาเพื่อนรอบข้าง รวมทั้งการเข้าเกมส์ออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม
นี่ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลจีนใช้กฎหมายแพ่งด้านสาธารณะประโยชน์ในการจัดระเบียบกิจการบิ๊กเทคของจีน อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดสามารถยอมความและชำระค่าปรับและเงินชดเชยได้ก่อนขึ้นศาล
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า รัฐบาลจีนกำลังเตรียมเรียกค่าปรับและเงินชดเชยก้อนใหญ่กับเทนเซ้นต์ แต่นักวิเคราะห์ก็ยังคาดว่าเม็ดเงินดังกล่าวอาจน้อยกว่าที่อาลีบาบา (Alibaba) เคยโดนไปที่ราว 18,000 ล้านหยวนก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ การดำเนินการฟ้องร้องได้ระบุให้บริษัทฯ ติดต่อเข้าไปที่สำนักงานกฎหมายของรัฐบาลภายใน 30 วัน แต่แหล่งข่าวไม่ได้ระบุว่า เทนเซ้นต์กระทำผิดกฎหมายในส่วนใดในรายละเอียด ขณะที่บริษัทฯ ก็ไม่ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับคดีแต่อย่างใด
อันที่จริง กฎหมายแพ่งด้านสาธารณะประโยชน์เริ่มออกบังคับใช้เป็นครั้งแรกในจีนเมื่อปี 2017 โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านอาหาร ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2020 รัฐบาลจีนก็ได้ปรับเพิ่มประเด็นการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเขาไว้ด้วย โดยระบุให้จำกัดการเข้าสู่เกมส์ วิดีโอ มินิโปรแกรม และบางบริการ อาทิ การชำระเงิน และไลฟ์สตรีมมิ่ง ของเด็กจีน เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และคุ้มครองคนกลุ่มนี้ในระดับที่สูงขึ้น
หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ระยะแรกของการก่อตั้งธุรกิจ ก็เป็นการยากที่จะจินตนาการว่าเทนเซ้นต์จะมาไกลถึงเพียงนี้ เทนเซ้นต์ก่อกำเนิดเมื่อปี 1998 ในสำนักงานขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในเขตหัวเชียงเป่ย (Huaqiangbei) เขตเทคโนโลยีในเมืองเซินเจิ้น โดยเริ่มทำตลาดธุรกิจเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ แต่ผลจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอินเตอร์เน็ตในจีนทำให้จำนวนผู้ใช้เว็บไซต์ของจีนขยายตัวก้าวกระโดด
คล้ายกับแจ็ก หม่า (Jack Ma) แห่งอาลีบาบา โพนี่ หม่า หัวเถิง (Pony Ma Huateng) ในวัย 27 ปีได้มองเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจจากการพัฒนาของระบบอินเตอร์เน็ตในจีน จึงได้ลาออกจากไชน่าโมชั่นเทเลคอม (China Motion Telecom) และชวนเพื่อนที่เคยร่วมเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเซินเจิ้นในอดีตออกมาก่อตั้งบริษัทกัน
โดยในช่วงแรก บริษัทฯ เริ่มจากการออกบริการส่งข้อความแบบทันทีผ่านโปรแกรม “ไอซีคิว” (ICQ) ซึ่งต่อมาในปี 2000 ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “คิวคิว” (QQ) และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากกลุ่มผู้คนที่ใช้อินเตอร์เน็ตและต้องการช่องทางในการติดต่อและส่งข้อความที่ประหยัดและน่าเชื่อถือ จำนวนนับล้านคนในเวลาเพียง 9 เดือน ซึ่งกลายเป็นแหล่งรายได้ในเวลาต่อมา
บริษัทฯ เริ่มออกเงินดิจิตัลที่เรียกว่า “คิวคิวคอยน์” (QQ Coin) เพื่อใช้ในการซื้อบริการอื่น อาทิ คิวคิวโชว์ (QQ Show) และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถเลือกสัญลักษณ์เฉพาะและเปลี่ยนชื่อบัญชีได้ รวมทั้งบริการและสิทธิพิเศษอื่นๆ เช่น การเล่นเกมส์ออนไลน์ ในเวลาต่อมา
ในปี 2004 เทนเซ้นต์ก็ขึ้นทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง โดยมีฐานผู้ใช้บริการส่งข้อความเดิมที่เข้าไปใช้บริการเกมส์ออนไลน์จำนวนกว่า 200 ล้านคน ยิ่งพอสมาร์ตโฟนถูกนำเสนอสู่ตลาด ก็ยิ่งทำให้โอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ เปิดกว้างมากขึ้น โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะผู้ใช้หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์
จุดนี้เองที่ทำให้เทนเซ้นต์พัฒนาวีแชตเข้าสู่ตลาดในปี 2011 ซึ่งใช้รับส่งข้อความและรูปภาพดิจิตัล ตามด้วยข้อความเสียง คลิปวิดีโอสั้น ทำให้ผู้ใช้โทรศัพท์สามารถเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเป็นวอล์กกี้ทอล์กกี้ ซึ่งช่วยให้คนจีนไม่ต้องลำบากพิมพ์หรืออ่านข้อความ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในกลุ่มผู้สูงอายุ
เพียงไม่ถึง 10 ปีหลังจากเริ่มปล่อยผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด และการพัฒนาสารพัดฟังก์ชั่นอย่างต่อเนื่อง วีแชตได้ยกระดับเป็น “ซุปเปอร์แอพ” ที่พร้อมพรั่งด้วยบริการมากมายผ่านมินิโปรแกรม เพียงหนึ่งทศวรรษของการเปิดให้บริการมินิโปรแกรมดังกล่าว ก็ทำให้วีแชตสร้างประวิติศาสตร์ของการมีผู้ใช้งานพุ่งขึ้นแตะ 1,200 ล้านคนได้แล้ว
วีแชตกลายเป็นเสมือน “อากาศอิเล็กทรอนิกส์” ที่ส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่คนจีนขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในจีนต่างมีบัญชีวีแชตเพื่อใช้สารพัดบริการตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน อาทิ การอ่านข่าว แชต พูดคุย ชมวิดีโอ เล่นเกมส์ ส่งภาพถ่ายและคลิปเพลง สั่งอาหาร เรียกรถแท็กซี่ รับจ่ายเงิน และจ่ายบิล บริการเหล่านี้เพิ่มความสะดวก และเปลี่ยนพฤติกรรมของคนจีนในโลกออนไลน์ได้ในวงกว้าง
อันที่จริง เทนเซ้นต์ได้พยายามเพิ่มระดับการกำกับควบคุมการขึ้นทะเบียนบัญชีผู้ใช้รายใหม่ในวีแชตมาโดยลำดับ และเมื่อหลายวันก่อน ก็ยังไปไกลถึงขนาดประกาศหยุดการขึ้นทะเบียนผู้ใช้รายใหม่ไประยะเวลาหนึ่ง โดยให้เหตุผลในเรื่องการยกระดับให้สอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบของรัฐ ก่อนเพิ่งกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมกับตัวเลขจำนวนผู้ใช้งานประจำที่พุ่งทะลุ 1,260 ล้านคน
ขณะที่การเป็นสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นฐานของธุรกิจที่ทำให้เทนเซ้นต์เป็นที่นิยม แต่แหล่งรายได้หลักของบริษัทฯ กลับมาจากธุรกิจวิดีโอเกมส์ออนไลน์ โดยในช่วงหลายปีหลัง เทนเซ้นต์เปิดตัวเกมส์ออนไลน์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนรายได้จากธุรกิจเกมส์ออนไลน์ในปัจจุบันมีสัดส่วนถึงราว 1 ใน 3 ของรายได้โดยรวมของกลุ่ม และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้บริษัทขยายกิจการออกสู่ตลาดโลก
ด้วยกระแสเงินสดจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าบริษัทฯ ในแต่ละวัน เราจึงเห็นเทนเซ้นต์ขยายการลงทุนอย่างหลากหลาย โดยปัจจุบันเทนเซ้นต์มีกิจการเครือข่ายมากกว่า 800 บริษัททั้งในจีนและต่างประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องปัญญาประดิษฐ์ การค้าปลีก การศึกษา ฟินเทค เพลง และอื่นๆ
ธุรกิจเพลงออนไลน์ที่แตกไลน์ออกมาไม่นานในนาม “เทนเซ้นต์มิวสิค” (Tencent Music) ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว การลงทุนในสปอติไฟ (Spotify) และยูเอ็มจี (Universal Music Group) ก่อนเข้าลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กในปี 2018 ส่งผลให้บริษัทฯ ก้าวขึ้นเป็นพี่ใหญ่ในบริการสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์ในจีนไปด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเข้าร่วมลงทุนในกิจการชั้นนำของโลกอย่างเทสล่า (Tesla) และสแนพแชต (Snapchat) และขยายการลงทุนไปยังบริการอื่นเพื่อรองรับความต้องการในอนาคต อาทิ คลาวด์คอมพิวติ้ง และ IoTs อุตสาหกรรม
ในส่วนของธุรกิจเกมส์ออนไลน์ เทนเซ้นต์ ไม่เพียงแต่ก้าวขึ้นเป็นพี่เบิ้มในตลาดจีน แต่ยังทะยานขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของอุตสาหกรรมเกมส์ออนไลน์โลก บริษัทฯ ขยายความร่วมมือในการพัฒนาเกมส์และร่วมลงทุนในกิจการเกมส์ออนไลน์ดีๆ กับหลายประเทศ อาทิ ไรออตเกมส์ (Riot Games) แห่งแคลิฟอร์เนีย ผู้พัฒนาเกมส์ยอดนิยม “League of Legends” และซุปเปอร์เซลล์ (Supercell) แห่งฟินแลนด์ ผู้ออกแบบเกมส์ “Clash of Clans”
แม้ว่าเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เทนเซ้นต์โดนรัฐบาลจีนสั่งห้ามการควบรวมกิจการเกมส์ออนไลน์ในเครือ อันได้แก่ หู่หยา (Huya) อันดับ 1 และโต้วหยู (Douyu) อันดับ 2 ในจีน ที่ต่างลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ ด้วยเหตุผลของการผูกขาดตลาด แต่ก็ไม่อาจหยุดการเติบโตของบริษัทฯ ได้
เทนเซ้นต์ ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับเกมส์ออนไลน์ชื่อดังอย่าง “Honor of Kings” ที่กำลังทำเงินมหาศาลจากจำนวนคนเล่นเกมส์ทั่วโลกเฉลี่ยมากกว่า 100 ล้านคนต่อวัน (ในจำนวนนี้ 96% มาจากตลาดจีน) ลองคิดดูว่า บริษัทฯ มีรายได้จากเกมส์นี้ขนาดไหนเมื่อนักเล่นเกมส์แต่ละคนต้องจ่ายค่าบริการถึงเดือนละ 1,800 หยวน หรือราว 9,000 บาท
การเติบใหญ่ทางธุรกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเทนเซ้นต์ และกิจการบิ๊กเทคในจีน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนกังวลใจไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นการจัดระเบียบครั้งใหญ่ในจีนที่ออกมาเป็นระลอกในปีนี้
โดยที่กิจการบิ๊กเทคของจีนส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และต่างประเทศ ผลจากการจัดระเบียบบิ๊กเทคในจีนอย่างต่อเนื่องดังกล่าว จึงทำให้ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องดิ่งเหวกันเป็นแถว
รัฐบาลจีนตอกย้ำเสมอว่า การสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมออนไลน์เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ กับการพัฒนาของธุรกิจออฟไลน์และเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศในระยะยาว เป็นสิ่งจำเป็น
ดังนั้น หากการจัดระเบียบยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เศรษฐกิจจีนในปีนี้อาจเติบโตน้อยกว่าที่หลายสถาบันคาดการณ์ไว้ ดูเหมือนความพยายามในการจัดระเบียบการประกอบธุรกิจของบิ๊กเทคจีน จะมีต้นทุนที่สูงยิ่งเสียแล้ว …
ที่มาข้อมูล : -