
เมื่อมังกรเจาะลึกกว่าที่เคยเป็นมา โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน
การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทางตอนเหนือของจีน ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนให้ความสำคัญมาช้านาน เหมา เจ๋อตง ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการรวมประเทศ เคยกล่าวไว้เมื่อปี 1952 ว่า “ทางใต้มีน้ำมาก ทางเหนือมีน้ำน้อย ถ้าเป็นไปได้ การยืมน้ำสักหน่อย ก็คงจะดี”
แต่ก็ต้องยอมรับว่าในยุคนั้น จีนยังขาดความพร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินทุนและเทคโนโลยี จีนทุ่มเทกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์ อันนำไปสู่โครงการใหญ่ที่โดดเด่นมากมาย
อาทิ เมื่อราวกลางปี 2002 หรือราว 23 ปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของจีนได้อนุมัติโครงการ “ผันน้ำจากใต้ขึ้นเหนือ” โดยระยะเวลาโครงการยาวนานถึง 50 ปี แบ่งออกเป็น 3 สายหลักครอบคลุมทั้งในด้านซีกตะวันออก ตอนกลาง และตะวันตก
มาถึงปัจจุบัน เหลือเพียงสายตะวันตกเท่านั้นที่อยู่ระหว่างการออกแบบและก่อสร้าง ทั้งนี้ คาดว่าเส้นทางน้ำสายนี้จะดึงเอาน้ำจาก 3 แควใหญ่ของแม่น้ำแยงซีเกียง ลากข้ามเทือกเขาแถวมณฑลชิงไห่เพื่อไปหล่อเลี้ยงพื้นที่แถบ “หลังไก่” อาทิ ชิงไห่ ส่านซี ซานซี มองโกเลียใน และหนิงเซียะ
นอกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว เขตปกครองตนเองซินเจียงก็นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ กอปรกับประเด็นการส่งคืนผู้ต้องหาชาวอุยกูร์กลับซินเจียง ผมก็เลยอยากชวนท่านผู้อ่านไปรู้จักซินเจียง และส่องกันว่าจีนดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอะไรเพื่อเสริมสร้างความกินดีอยู่ดีและคุณภาพชีวิตของผู้คนในแถบนั้นกันบ้างครับ ...
ซินเจียงตั้งอยู่บริเวณ “หางไก่” หรือทางซีกตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีขนาดกว่า 1.6 ล้านตารางกิโลเมตร ถือว่าใหญ่สุดเมื่อเทียบรายมณฑลของจีน หรือหากเทียบเป็นประเทศก็ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลก หรือมีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยถึงกว่า 3 เท่าตัว
ซินเจียงมีความสำคัญในเชิงภูมิรัฐศาสตร์เป็นอย่างมาก ด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 2,500 ปีทำให้ซินเจียงมีสถานะด้านการปกครองที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อจีนรวมประเทศเมื่อปี 1949 ซินเจียงถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จีนกลายเป็น “รูปไก่” ที่สมบูรณ์และงดงาม
ขณะเดียวกัน ขนาดของมณฑลที่ใหญ่ก็ทำให้มีพรมแดนติดกับถึง 8 ประเทศไล่ตั้งแต่มองโกเลีย รัสเซีย คาซักสถาน อัฟกานิสถาน เคอร์กิสถาน ทาจิกิสถาน ปากีสถาน และอินเดีย ขณะเดียวกันยังติดอยู่กับกานซู่และชิงไห่ในด้านซีกตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นทางสายไหมที่มีชื่อเสียงแต่ครั้งโบราณกาล และทิเบตทางตอนใต้ โดยมีอรุมชี (Urumqi) เป็นเมืองหลวงของมณฑล

สรุปข่าว
ซินเจียงเต็มไปด้วยเทือกเขาสูงและทะเลทรายที่เวลาบินเหนือพื้นที่จะเห็นทัศนียภาพที่แปลกตา โดยประเมินว่ามีเพียงไม่ถึง 10% ของพื้นที่โดยรวมที่เหมาะสำหรับการเป็นที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ซินเจียงมีจำนวนประชากรราว 26 ล้านคนในปัจจุบัน โดยประกอบด้วยกว่า 40 ชนกลุ่มน้อย โดยมีชาวอุยกูร์และชาวฮั่นเป็นสัดส่วนที่สูง ทำให้เราได้ยินข่าวความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนจากจีนเป็นระยะในอดีต
อย่างไรก็ดี ภายหลังเศรษฐกิจจีนเติบใหญ่ และกระจายความเจริญจากซีกตะวันออกสู่ ตอนกลางและ ซีกตะวันตกในช่วงราว 2 ทศวรรษหลัง ก็ทำให้ซินเจียงเริ่ม “ลืมตาอ้าปาก” จีนพยายามเปลี่ยนมุมมองความคิดของคนท้องถิ่นให้หันมาใส่ใจกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จนทำให้ชาติตะวันตกโจมตีว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน
จุดเด่นอีกประการหนึ่งของซินเจียงก็คือ ความอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแร่หายาก ซึ่งเป็นที่ต้องการของโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่
นอกจากการเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซินเจียงยังเป็นแหล่งเพาะปลูกสินค้าเกษตรและแปรรูปที่มีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ (องุ่น แอปเปิ้ล ลูกพลับ แตงโมและเมลอน) พืชไร่ (ข้าวสาลี ข้าวโพด และฝ้าย) พืชสมุนไพร (โสม และเครื่องเทศ อาทิ ยี่หร่าและพริกไทย) ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ (เนื้อแกะ เนื้อแพะ นมและผลิตภัณฑ์นม) สินค้าเพิ่มมูลค่าผ่านเกษตรอินทรีย์และการแปรรูป (ไวน์ น้ำมันพืชจากเมล็ดทานตะวันและเมล็ดฝ้าย ลูกพลับตากแห้ง และยาสมุนไพร)
ประการสำคัญ เมื่อปลายปี 2023 พื้นที่ 3 ส่วนสำคัญของซินเจียง อันได้แก่ อรุมชี คาชการ์ (Kashgar) และฮอร์โกส (Horgos) ก็ได้รับการจัดตั้งเป็น “เขตนำร่องเสรีทางการค้า” (Pilot Free Trade Zone) ซึ่งถือเป็น FTZ แห่งแรกของซีกตะวันตกเฉียงเหนือ และอันดับที่ 22 ของจีน ซึ่งสะท้อนว่าซินเจียงซ่อนไว้ซึ่งศักยภาพการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ จีนยังวางแผนที่จะขยายแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของซินเจียงผ่านการท่องเที่ยว โดยเตรียมพัฒนาเขตท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมกับพื้นที่แถบเอเซียกลางที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า (Visa Free) ระหว่างกันในอนาคต ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในด้านขนาดทางภูมิศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แต่การมี “น้ำจืด” ที่มากพอสำหรับความต้องการของผู้คน ภาคการผลิต และสิ่งแวดล้อมก็นับว่ามีความสำคัญต่อความยั่งยืนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ แถมยังอาจสร้างประโยชน์ที่กว้างขวางมากกว่าในด้านอื่นๆ กล่าวคือ เมื่อต้นปี 2025 จีนประสบความสำเร็จในการขุดบ่อน้ำในทะเลทรายที่ลึกถึง 10,000 เมตร หรือ 10 กิโลเมตร บ่อน้ำลึกนี้มีชื่อว่า “เชนดิทาเกะ 1” (Shenditake 1) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลทราย “ตากลามากัน” (Taklamakan) บริเวณใจกลางทาริมเบซิน (Tarim Basin) ทางตอนใต้ของซินเจียง
ทะเลทรายแห่งนี้มีพื้นที่โดยรวมราว 320,000 ตารางกิโลเมตร หรือกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งนี้ ผืนทรายนี้มีช่วงกว้างสุดถึง 420 และทอดยาวจากตะวันตก-ตะวันออกถึง 960 กิโลเมตร ท่านผู้อ่านอาจจินตนาการต่อได้ว่า การใช้ชีวิตในบริเวณทะเลทรายแห่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยหากปราศจากแหล่งน้ำกินน้ำใช้
นอกเหนือจากความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมศาสตร์ในการขุดเจาะแล้ว จีนยังทำเรื่องนี้ด้วยความทุ่มเทและอุตสาหะยิ่ง โดยคนงานที่เชี่ยวชาญด้านการขุดเจาะน้ำมันและบุคลากรทางวิทยาศาสตร์หลายร้อยชีวิตยืนหยัดในการดำเนินโครงการอย่างแน่วแน่ตลอด 270 วันซึ่งครอบคลุมถึง 3 ฤดูกาลในพื้นที่ทะเลทรายที่มีอุณหภูมิที่ร้อนจัด ความหนาวเย็นที่รุนแรง พายุทราย และสภาพทางธรณีวิทยาที่สลับซับซ้อน
โครงการเริ่มดำเนินการเมื่อ 30 พฤษภาคม 2023 และเสร็จสมบูรณ์เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2025 และทำลายหลายสถิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหัวสว่านปลายเพชรของเข็มเจาะพร้อมท่อเจาะมากกว่า 1,000 ท่อผ่านชั้นหิน 13 ชั้นแตะระดับความลึกของทาริมเบซิน 10,000 เมตร ซึ่งถือเป็นการเจาะพื้นผิวโลกลงลึกถึง 10 กิโลเมตรที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในโลก
ตามรายงานของ China National Petroleum Corp (CNPC) ซึ่งเป็นผู้ดําเนินการโครงการดังกล่าวระบุว่า หลุมเจาะดังกล่าวมีความลึกที่ 11,100 เมตรในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นบ่อน้ำที่ลึกที่สุดของเอเซีย และลึกเป็นอันดับที่ 2 ของโลก สิ่งนี้แสดงถึงความก้าวหน้าครั้งสําคัญของจีนในด้านการสํารวจโลกลึก ภายหลังความพยายามทางวิทยาศาสตร์ในห้วงอวกาศและทะเลลึกในช่วงหลายปีหลัง
นอกจากการขุดหาแหล่งน้ำในทะเลทรายแล้ว โครงการนี้ยังเป็นประโยชน์อย่างมากในการสำรวจแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในชั้นหินลึกสุด ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของจีนในระยะยาว และการสํารวจและวิจัยวิวัฒนาการของโลกและต้นกําเนิดของสิ่งมีชีวิต ตลอดจนการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การป้องกันภัยพิบัติ และการใช้ทรัพยากร
ดูเหมือนโครงการขุดบ่อน้ําลึกในทะเลทรายไม่เพียงแต่แสดงถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ยังจะเป็นต้นแบบของการเดินหน้าอีกหลายโครงการเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำและเสริมสร้างประโยชน์ในมิติด้านพลังงานและอื่นๆ ของซินเจียงและของจีนในอนาคต ...
ที่มาข้อมูล : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
ที่มารูปภาพ : AFP

ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร