
จากการประกาศภาษีตอบโต้ หรือภาษีต่างตอบแทนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา กลายเป็นข่าวที่สังคมไทยให้ความสนใจ เพราะไทยเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ที่ถูกภาษีตอบโต้มากถึง 37% (หารครึ่งจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประเมิน 72%)

สรุปข่าว
ข้อมูลจาก Trade.Gov เทียบกับของรัฐบาลสหรัฐฯ แล้วนำมาแผ่เทียบกันในกราฟ จะเห็นถึงสัดส่วนที่ไม่สอดคล้องกัน หากมองในมุมปริมาณการนำเข้า
สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2024 กว่า 605,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเจอภาษีตอบโต้จากทรัมป์ไป 20%
อีกประเทศที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ในปริมาณมาก แล้วเจอภาษีตอบโต้สูงเช่นกัน คือ จีน เมื่อปี 2024 ส่งออไป 438,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเจอภาษีไป 34% (ไม่รวมที่ถูกขึ้นภาษีไปแล้ว 20%)
ทั้งนี้ ในกราฟจะเห็นว่า มีหลายประเทศ/ดินแดน ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อยกว่าประเทศลำดับต้น ๆ แต่ถูกภาษีตอบโต้ค่อนข้างสูง ดังนี้
กัมพูชา ส่งออกไปสหรัฐฯ 12,700 ล้านดอลลาร์ เจอภาษีตอบโต้ 49%
ไทย ส่งออกไปสหรัฐฯ 63,300 ล้านดอลลาร์ เจอภาษีตอบโต้ 37%
บังกลาเทศ ส่งออกไปสหรัฐฯ 8,400 ล้านดอลลาร์ เจอภาษีตอบโต้ 37%
อินโดนีเซีย ส่งออกไปสหรัฐฯ 28,100 ล้านดอลลาร์ เจอภาษีตอบโต้ 32%
มาเลเซีย ส่งออกไปสหรัฐฯ 52,500 ล้านดอลลาร์ เจอภาษีตอบโต้ 24%
แล้วสหรัฐฯ ใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณาภาษีต่างตอบแทน หรือภาษีโต้กลับถึง 36% กับไทย จากที่สหรัฐฯ ประเมินว่า ไทยเก็บภาษีสหรัฐฯ ทั้งแบบทางตรงและอ้อม 72%
ศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์มองว่า 10% คือภาษีนำเข้าสินค้าที่ไทยเก็บกับสหรัฐฯ แต่อีก 62% คือ “ดุลพินิจ” ล้วน ๆ จากปัจจัย Non-Tariff หรือมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร
“มันใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวตั้งไม่น้อย มันนามธรรมสูงมาก จับต้องไม่ได้” แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า ชาติ CLMV บวก ไทย โดนหนักสุด ทั้งที่ CLMV คือชาติยากจนอันดับต้น ๆ ของโลก คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ยกเว้นเวียดนาม
“เพราะชาติเหล่านี้ใกล้ชิดกับจีนมาก นี่แหละเจตนารมย์ซ่อนเร้น ๆ จริง ๆ ที่เราต้องตีความให้ออก” รศ.ดร.สมภพ กล่าว
ที่มาข้อมูล : Trade.Gov และ White House
ที่มารูปภาพ : Freepik

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล