
การขึ้นภาษีตอบโต้ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขาใช้คำว่า “ปรานี” ที่สุดแล้ว
ในสายตาผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิรัฐศาสตร์แล้ว มันคือ เครื่องมือทางการทูตต้นทุนต่ำ ที่ผู้นำสหรัฐฯ ใช้ เพื่อกดดันให้นานาประเทศ และอาจรวมถึงไทยต้องจำยอม ทำตามสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการ
แต่นี่ก็เป็นเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดของทรัมป์ด้วยเช่นกัน

สรุปข่าว
กำแพงภาษี อาวุธพิฆาตเศรษฐกิจ
สำหรับทรัมป์ เขาเชื่อมาตลอดว่า ภาษีขาเข้า หรือ Tariff นั้น เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจอเมริกาได้ดีที่สุด ด้วยหลักคิดว่า สหรัฐฯ ถูกชาติอื่น ๆ เอาเปรียบมานาน ถึงเวลาที่ต้องทวงคืนความยิ่งใหญ่กลับมาแล้ว
แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การขึ้นภาษีจีน ของเก่ารวมกับของใหม่ มากถึง 53% และ 20% กับชาติสมาชิสหภาพยุโรปกับเกาหลีใต้ และอีก 10% กับทุกประเทศทั่วโลก
ผลกระทบมันจะตีกลับมาสู่ผู้บริโภคอเมริกัน ทั้งค่าครองชีพที่แพงขึ้น และเสี่ยงทำให้โลกจมสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
เคน ร็อกกอฟฟ์ อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ IMF บอกกับบีบีซีว่า การประกาศนี้ของทรัมป์ ทำให้โอกาสเศรษฐกิจอเมริกาถดถอย อยู่ที่ 50/50 เลยทีเดียว ดังนั้น มันจึงเป็นเดิมพันครั้งใหญ่สำหรับทรัมป์
การทูตต้นทุนต่ำ
ด้าน รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และที่ปรึกษาศูนย์จีนศึกษา จุฬาฯ เขามองต่างกันออกไป เพราะมองว่า นี่เป็นเกมการทูตอย่างหนึ่งที่เขาใช้คำว่า “การทูตต้นทุนต่ำ”
“การใช้ภาษีขาเข้า เป็นเครื่องมือต้นทุนต่ำที่สุดของอเมริกา เป็น Low Cost Diplomacy ที่ใช้เพียงลมปาก วาทะ และการเซ็นลงนามคำสั่งพิเศษเพียงไม่กี่แผ่น” รศ.ดร.สมภพ กล่าว
แต่มันก็มีพลานุภาพแรงสูง สะเทือนไปทั่วโลก เมื่อผู้ใช้คืออเมริกา เพราะทำให้ “ทั้งโลกต้องวิ่งไปหาสหรัฐฯ เพื่อดำเนินนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับที่อเมริกาต้องการ” ไม่ว่าจะนโยบายเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การเมืองความมั่นคง ภูมิรัฐศาสตร์ สังคม รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน
“มันเป็นต้นทุนต่ำสำหรับคนดำเนินนโยบาย แต่มันต้นทุนต่ำสำหรับสหรัฐอเมริกา และระดับโลกหรือเปล่า นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” รังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ตั้งข้อสังเกต เพราะต้นทุนที่สูงมันจะมาตกกับตัวสหรัฐฯ และชาวอเมริกันเอง
600,000 ล้านดอลลาร์ คุ้มค่าไหม
ธนาคาร ING มองว่า สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะได้มาจากการขึ้นภาษีหลากรูปแบบ รวมถึงภาษีต่างตอบแทนกับ 60 ประเทศทั่วโลก จะทำให้สหรัฐฯ มีรายได้เพิ่มขึ้น 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 20% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ
รศ.ดร.สมภพ ชี้ว่า นี่คือเงินที่รัฐบาลทรัมป์จะนำไปดำเนินนโยบายที่ให้สัญญากับประชาชนไว้ นั่นคือการลดภาษีเงินได้ เงินได้บุคคลธรรมดา แบบถาวร
แต่มันก็เป็นการ “ยื่นหมูยื่นแมว” ไม่เพียงในประเทศว่า ชาวอเมริกันจะรับได้ไหมที่ภาษีเงินได้กับบุคคลธรรมดาลด แต่ค่าครองชีพจะเพิ่มจากข้าวของราคาแพงขึ้น แต่ยังรวมถึง “การยื่นหมูยื่นแมว” กับโลก ที่จะเกิดความปั่นป่วนของซัพพลายเชนทั่วโลก จนเสี่ยงปะทุเป็นความขัดแย้งภายในประเทศและระดับโลก
ไทยพร้อมไหม
แล้วสหรัฐฯ ใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณาภาษีต่างตอบแทน หรือภาษีโต้กลับถึง 36% กับไทย จากที่สหรัฐฯ ประเมินว่า ไทยเก็บภาษีสหรัฐฯ ทั้งแบบทางตรงและอ้อม 72%
รศ.ดร.สมภพ มองว่า 10% คือภาษีนำเข้าสินค้าที่ไทยเก็บกับสหรัฐฯ แต่อีก 62% คือ “ดุลพินิจ” ล้วน ๆ จากปัจจัย Non-Tariff หรือมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร
“มันใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัวตั้งไม่น้อย มันนามธรรมสูงมาก จับต้องไม่ได้” แต่เขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า ชาติ CLMV บวก ไทย โดนหนักสุด ทั้งที่ CLMV คือชาติยากจนอันดับต้น ๆ ของโลก คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ยกเว้นเวียดนาม
“เพราะชาติเหล่านี้ใกล้ชิดกับจีนมาก นี่แหละเจตนารมย์ซ่อนเร้น ๆ จริง ๆ ที่เราต้องตีความให้ออก” รศ.ดร.สมภพ กล่าว
ท้ายสุด รศ.ดร.สมภพ ชี้ว่า ไทยมีเวลา 7 วันเพื่อเข้าเจรจาไกล่เกลี่ยกับสหรัฐฯ แต่คิดว่าไม่น่าจะพอ เนื่องจากผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่มีเจ้าหน้าที่เพียงหลักร้อย ไม่น่าจะรับมือนานาประเทศที่จะแห่กันเข้ามาขอเจรจา
“แต่นี่แหละคือจุดเริ่มต้นการเจรจา” ที่ผู้เป่านกหวีดก็คือทรัมป์เอง
ที่มาข้อมูล : TNN Online
ที่มารูปภาพ : Reuters

ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล