
นักวิจัยเริ่มเจอหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับผลจากการดื่มน้ำอัดลมแบบไดเอท ที่มักใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล กับประสิทธิภาพในการลดน้ำหนัก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับแอสปาแตม ซึ่งเป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลชนิดหนึ่ง ว่าอาจก่อมะเร็งในมนุษย์
การศึกษาใหม่ล่าสุด ศึกษาบริโภคสารให้ความหวานเทียมอีกประเภท ที่ชื่อว่า "ซูคราโลส" ในปริมาณที่มากเกินไป แทนที่สมองจะส่งสัญญาณให้กินน้อยลง ซูคราโลสกลับกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมน้ำหนักในระยะยาว

สรุปข่าว
ซูคราโลส ในน้ำอัดลมแบบไดเอท
ซูคราโลส เป็นสารที่ให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีรสชาติคล้ายน้ำตาลมากที่สุด แต่มีความหวานสูงมาก หวานกว่าน้ำตาลปกติทั่วไปถึง 600 เท่าเมื่อเทียบระดับความหวานเดียวกันกับน้ำตาลจึงมีราคาที่ต่ำกว่า สามารถใช้ลดต้นทุนผลิตภัณฑ์ได้ อีกทั้งยังมีรสชาติที่คล้ายคลึงกับน้ำตาลทราย ทำให้ผู้บริโภคมีความคุ้นเคยมากกว่า
ซูคราโลส สามารถพบได้ในเครื่องดื่มที่โฆษณาว่าน้ำตาล 0 เปอร์เซนต์ หรือ เครื่องดื่มน้ำอักลมประเภทไดเอท ที่มักโฆษณาว่าแคลอรีต่ำ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนัก
นักวิจัยกล่าวว่า ผู้ที่ดื่มน้ำที่มีส่วนผสมของซูคราโลส พบว่า จะมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นเกือบ 20% เมื่อเทียบกับการดื่มน้ำที่มีน้ำตาลทราย
แม้สารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำหรือไม่มีแคลอรี เช่น ซูคราโลส ได้รับการแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหาร และองค์กรสุขภาพที่น่าเชื่อถือ สำหรับการจัดการโรคเบาหวานและน้ำหนัก โดยอิงจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ แต่การบริโภคต่อเนื่อง และในปริมาณมากเกินไป ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว ยิ่งกับคนที่ต้องควบคุมน้ำหนัก
งานวิจัยค้นพบอะไร
การศึกษาใหม่ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันพุธในวารสาร Nature Metabolism ได้ขอให้ผู้เข้าร่วม 75 คนบริโภคเครื่องดื่มแตกต่างกัน 3 ประเภท ได้แก่ น้ำเปล่า น้ำที่ใส่น้ำตาลทราย (ซูโครส) และน้ำที่ใส่ซูคราโลส
นักวิจัยพบว่า ความแตกต่างของประเภทสารให้ความหวานในเครื่องดื่ม ส่งผลต่อสมองต่างกัน โดยเครื่องดื่มที่มีซูคราโลสเพิ่มความรู้สึกหิวขึ้นประมาณ 17% และส่งผลต่อสมองที่มีผลต่อการตัดสินใจ
การทดสอบเลือดแสดงให้เห็นว่าซูคราโลสไม่มีผลต่อฮอร์โมนที่สมองใช้บอกเมื่อเรารู้สึกอิ่มและไม่หิวอีกต่อไป
หรือพูดง่ายว่า ซูคราโลส ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนที่สั่งให้เรารู้สึกอิ่ม จึงมีโอกาสที่เราจะทานอาหารได้มากขึ้น
แล้วแนวทางที่ดีต่อสุขภาพ คืออะไร
นักวิจัยแนะนำว่า เช่นเดียวกับที่หลายคนได้ลดการใช้เกลือ ก็สามารถลดการใช้สารให้ความหวานได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในการฝึกต่อมรับรสให้ต้องการความหวานน้อยลง
ต่อมรับรสจะตอบสนองโดยพบว่าอาหารรสหวานที่เคยอร่อยกลับกลายเป็นหวานจนเลี่ยน หรือในกรณีของโซเดียม จะรู้สึกว่าเค็มเกินไป
เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารให้ความหวาน เป็นไปได้ที่จะลดการบริโภคน้ำตาลหรือสารให้ความหวานประจำวันลง

จุฑาลักษณ์ แก้วปัญญา