
พันโทหญิงแพทย์หญิงจรรยวรรธน์ สร้างสมวงษ์ ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า บริเวณกระดูกอุ้งเชิงกรานจะประกอบไปด้วยกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic floor) ที่ทำหน้าที่พยุง 3 อวัยวะในช่องท้องส่วนล่าง ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะ มดลูกในผู้หญิง ต่อมลูกหมากในผู้ชาย รวมไปถึงลำไส้และทวารหนัก ดังนั้น เมื่อเกิดภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ก็จะทำให้อวัยวะเหล่านี้เคลื่อนต่ำลงมาจากตำแหน่งปกติและก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่
- อาการปัสสาวะเล็ด
- มดลูกหย่อน ปากมดลูกปลิ้น
- อาการท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายไม่ออก และลำไส้ปลิ้น
โดยอาการของแต่ละคนขึ้นอยู่กับว่าจะเกิดปัญหาจากส่วนใดก่อนหรือหลัง แต่ตามหลักการแล้วเมื่ออุ้งเชิงกรานหย่อนก็มักจะทยอยก่อให้เกิดอาการทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้พบได้บ่อยในเพศหญิง โดยเฉพาะผู้ที่เคยผ่านการคลอดบุตรหลายครั้ง ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่ออุ้งเชิงกราน

สรุปข่าว
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยยืนยันภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อน แพทย์จะสามารถดูได้ว่าเกิดปัญหาที่อวัยวะใดบ้าง จากนั้นจะจึงจะวางแผนการรักษาต่อไป ซึ่งโดยหลักการถึงแม้ว่าจะเกิดปัญหาที่อวัยวะเดียว แต่ในอนาคตปัญหาอื่นก็อาจจะตามมาได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดแก้ไขอุ้งเชิงกรานหย่อน ซึ่งสามารถรักษาได้ทุกปัญหาในคราวเดียว
การผ่าตัดแก้ไขอุ้งเชิงกรานหย่อน (Total Pelvic Organ Suspension หรือ T-POS) เป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Minimally Invasive Surgery) โดยศัลยแแพทย์จะกรีดแผลขนาด 0.5 – 1 เซนติเมตร ประมาณ 3 – 5 แผล แล้วสอดกล้อง Laparoscope เข้าไป จากนั้นจะใช้แผ่นใยสังเคราะห์ไปวางยึดเข้ากับโครงสร้างของอุ้งเชิงกราน เพื่อช่วยยกและพยุงอวัยวะที่หย่อนให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
ข้อดีของการผ่าตัดแบบ Total Pelvic Organ Suspension (T-POS) ได้แก่
- ช่วยแก้ไขภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนหลายตำแหน่งพร้อมกัน (ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และมดลูก)
- ลดโอกาสเกิดภาวะหย่อนซ้ำได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีการใช้แผ่นใยสังเคราะห์พยุงอวัยว
- ฟื้นตัวเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบดั้งเดิม
- แผลขนาดเล็ก ลดโอกาสติดเชื้อและลดความเจ็บปวด
- สามารถทำร่วมกับการแก้ปัญหาปัสสาวะเล็ด ได้ในคราวเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแก้ไขอุ้งเชิงกรานหย่อน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อน เพราะจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องผังผืดที่หน้าท้องมาขัดขวางในระหว่างผ่าตัด
ที่มาข้อมูล : พันโทแพทย์หญิงจรรยวรรธน์ สร้างสมวงษ์ ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โรงพยาบาลเวชธา
ที่มารูปภาพ : Canva

พรรณพิไล ปุกหุต