

สรุปข่าว
กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต้องอ่าน! เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นแล้วรักษาอย่างไร อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ เป็นปัญหาหนึ่งที่นำผู้ป่วยมารับการตรวจในคลินิกศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่จะพบได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มักพบในผู้สูงอายุซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติเนื่องจากความเสื่อมของร่างกาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยอีกหลายด้าน แบ่งออกเป็นผลกระทบทางกาย ได้แก่ การเกิดแผลหรือผื่นจากการอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ ผลกระทบทางใจ ได้แก่ อาการซึมเศร้า การเขินอาย ส่งผลให้เก็บตัวไม่สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติ ดังนั้นหากเราเข้าใจถึงสาเหตุของอาการ และแนวทางการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
อาการภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้
คือ อาการที่ผู้ป่วยมีน้ำปัสสาวะเล็ดรอดออกมานอกระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างโดยไม่รู้ตัวและไม่สามารถควบคุมได้ จากการตรวจร่างกายอาจจะสังเกตเห็นว่ามีน้ำปัสสาวะไหลซึมออกมาหรือไม่ก็ได้ โดยภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงที่กระเพาะปัสสาวะกำลังทำการเก็บน้ำปัสสาวะ (Storage function) เมื่อความดันในกระเพาะปัสสาวะ (Intravesical pressure) สูงขึ้นมากกว่า ความดันภายในท่อปัสสาวะในขณะที่ปิดอยู่ (Urethral closure pressure) จะส่งผลให้เกิดมีการเล็ดรอดของน้ำปัสสาวะออกมาได้ หรือในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากการที่กระเพาะปัสสาวะมีรูรั่ว (Fistula) ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำปัสสาวะได้
ภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้แบบชั่วคราว (Transient urinary incontinence) และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบถาวร (Permanent urinary incontinence)
ภาวะกลั้นน้ำปัสสาวะไม่ได้แบบชั่วคราว (Transient urinary incontinence) มักจะมีสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และสามารถแก้ไขให้หายเป็นปกติได้ ได้แก่
-ผู้ป่วยที่มีอาการเพ้อสับสน (Delirium)
-ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะหรือติดเชื้อในระบบอื่นของร่างกาย (Infection)
-ผู้ป่วยเพศหญิงที่มีปัญหาท่อปัสสาวะหรือช่องคลอดแห้งจากการขาดฮอร์โมน (Atrophic vaginitis)
-ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิตเวช (Psychological causes)
-ผู้ป่วยที่มีการใช้ยาบางกลุ่ม (Pharmacological causes) เช่น ยาลดความดัน ยาที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท
-ผู้ป่วยที่มีการสร้างปัสสาวะออกมาจำนวนมากในขณะที่กำลังรักษา (Excessive urine product)
-ผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับร่างกายได้ตามปกติ ภายหลังการผ่าตัดหรือการรักษา (Restricted mobility)
-ผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องผูก อุจจาระอัดแน่นในลำไส้ (Stool impaction)
ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้แบบถาวร (Permanent urinary incontinence) จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 8 อาการย่อย คือ
-อาการไอจามปัสสาวะเล็ด (Stress urinary incontinence)
-อาการปัสสาวะราด (Urge urinary incontinence)
-อาการไอจามปัสสาวะเล็ด ร่วมกับปัสสาวะราด (Mixed urinary incontinence)
-อาการปัสสาวะรดที่นอน (Enuresis / Nocturnal enuresis)
-อาการปัสสาวะไหลซึมตลอดเวลา (Continuous urinary incontinence)
-อาการปัสสาวะไหลซึมออกมาในขณะเปลี่ยนท่าทาง (Postural incontinence)
-อาการปัสสาวะไหลซึมออกมาโดยไม่รู้สึกตัว (Insensible incontinence)
-อาการปัสสาวะเล็ดราดในขณะมีเพศสัมพันธ์ (Coital / Giggle incontinence
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ด
-การตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร โดยเฉพาะจำนวนครั้งของการคลอดบุตร กรณีคลอดบุตรหลายครั้งจะมีความเสี่ยงมากขึ้น ไม่จำเป็นว่าจะคลอดโดยวิธีธรรมชาติ หรือการผ่าคลอดล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น เพราะการตั้งครรภ์จะส่งผลให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานต้องรับน้ำหนักของเด็กตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
-อายุ พบในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยทองที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป จะเกิดทั้งในกรณีไอ จาม
-ความอ้วน เนื่องจากเพิ่มน้ำหนักแรงดันในช่องท้อง และแรงดันในกระเพาะปัสสาวะ
-ผู้หญิงที่ตัดมดลูกและหมดประจำเดือน เนื่องจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน มีผลทำให้เนื้อเยื่อที่พยุงระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะในอุ้งเชิงกรานฝ่อลง
-รายที่มีเพศสัมพันธ์แบบพิสดาร
ลักษณะและวิธีรักษา อาการปัสสาวะเล็ด
การรักษาปัสสาวะเล็ดนั้นมีอยู่หลายวิธี ซึ่งผู้ป่วยสามารถพิจารณาเลือกรักษาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี หากมีอาการไม่มาก การหัดฝึกขมิบอย่างถูกวิธีและสม่ำเสมอก็จะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
-ปวดปัสสาวะแบบรุนแรง แต่กลับไม่ยอมเข้าห้องน้ำ ส่งผลให้เมื่อถึงเวลาก็จะราดออกมาเลย สามารถรักษาด้วยการรับประทานยา พบมากในผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยทำงาน
-มีอาการปัสสาวะราดออกมาเลย เมื่อมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง คือ ไอ หรือจาม คนที่พบในกลุ่มนี้จะเป็นผู้หญิงที่มีอายุ น้ำหนักมาก เคยมีประวัติคลอดยาก หรือเคยผ่าตัดบริเวณรอบท่อปัสสาวะมาก่อน หรือในกลุ่มคนที่เคยฉายรังสีในบริเวณนั้นมา ซึ่งกลุ่มนี้จะรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด
สาเหตุของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
-การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
-การอักเสบติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะ
-ช่องคลอดหย่อน
-หูรูดไม่แข็งแรงหรือเสื่อม
-เยื่อบุรอบท่อปัสสาวะบางฝ่อ
-ท้องผูกเรื้อรัง
-การใช้ยาบางชนิด
-ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว
-เครื่องดื่มคาเฟอีน
การรักษา
-ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ลดเครื่องดื่มคาเฟอีน, หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน, ไม่กลั้นปัสสาวะซึ่งทำให้ติดเชื้อ)
-ควบคุมน้ำหนัก
-รักษาอาการท้องผูก
-รักษาด้วยยา
-ขมิบช่องคลอด (เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ)
-ใช้อุปกรณ์พยุง (รักษาอาการช่องคลอดหย่อน)
-เลเซอร์ (รักษาเยื่อบุรอบท่อปัสสาวะบางฝ่อ)
ที่มา รพ.ศิริราชฯ / รพ.เปาโล / RAMA CHANNEL
ที่มาข้อมูล : -